25 กันยายน 2554

ชาขาว

                          ชาขาว



YouTube Video




ชาขาว (จีน: 白茶) เป็นชาชนิดหนึ่ง ผลิตจากตูมและยอดอ่อนของต้นชา แหล่งเพาะปลูกชาขาวที่มีชื่อเสียงอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของประเทศจีน กรรมวิธีผลิตชาขาวเริ่มจากการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นนำยอดชาที่เก็บได้มาผ่านกระบวนการทำแห้งในระยะเวลาที่รวดเร็ว ด้วยวิธีธรรมชาติโดยอาศัย ลม แสงแดด หรือความร้อนซึ่งจะแตกต่างจากกรรมวิธีผลิตชาประเภทอื่นๆ (ชาเขียว ชาดำ ชาแดง ชาอู่หลง) ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งด้วยความร้อนหรือไอน้ำและผ่านกระบวนการหมักสำหรับชาบางประเภท ทำให้ปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระและคุณค่าทางโภชนาการของชาขาวยังคงไว้ได้มาก รวมทั้งกลิ่นและรสชาติของชาขาวที่ยังคงความสดชื่นและนุ่มนวล ชาขาวจึงเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง


ต้นกำเนิดชาขาว

ประเทศจีนเป็นแหล่งผลิตดั้งเดิมของใบชา ชาขาวมีชื่อเดิมตามภาษาท้องถิ่นจีนว่า หยินเซน (แปลว่าเข็มเงิน) ชาวจีนดื่มชาขาวมานานกว่า 1,500 ปี ในปีคริสต์ศักราช 618-907 สมัยราชวงศ์ถังเป็นยุคสมัยของประวัติศาสตร์ชา รูปแบบของชาและวิธีในการเตรียมจะมีความแตกต่างจากปัจจุบัน[1] การผลิตชาขาวในสมัยนั้น ชาขาวจะถูกเก็บตูมชาภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินาทีที่ตูมชาแรกผลิออกมา การเก็บเกี่ยวจะต้องทำอย่างพิถีพิถัน โดยจะเก็บเกี่ยวด้วยมือเท่านั้นและเลือกเก็บเฉพาะในช่วงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นตูมชาจะถูกทำให้แห้งและอัดรวมเป็นก้อน ส่วนการชงชานั้นจะนำใบชาบางส่วนจากก้อนชามาใส่ในน้ำเดือดที่อยู่ในภาชนะเคลือบดินเผาจึงได้น้ำชา ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่ง ระหว่างปี 960-1279 การผลิตและวิธีเตรียมชาทั้งหมดในสมัยนั้นมีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบชาในสมัยนั้น ส่วนมากจะอยู่ในลักษณะตูมชาแห้งที่ไม่มีการอัด (loose-leaf styles) [1] และมีการเกิดชารูปแบบใหม่เกิดขึ้น คือ ชาผง กระบวนการผลิตชาเริ่มจากตูมชาจะถูกเก็บและนำมาผ่านกระบวนการอบไอน้ำในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรักษากลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว หลังจากนั้นผ่านกระบวนการทำแห้งและบดเป็นผงละเอียด ทำให้เกิดเครื่องดื่มลักษณะใส สีเหลืองอ่อน เมื่อดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งนี้ได้จักรพรรดิ Hui Zhong ได้กล่าวว่า “ ชาขาวเป็นชาที่ดีที่สุดในบรรดาชาทั้งหมด ” และได้เกิดชาขาวขึ้นหลายชนิด เนื่องจากชาขาวเป็นชาที่มีรสชาติเป็นที่พึงพอใจของสังคมชั้นสูง มีกลิ่นหอม รสชาติ และคุณสมบัติดี หายากและมีราคาแพง จึงถือเป็นชาชั้นสูงสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน


แหล่งเพาะปลูกชาขาว



ชาเป็นพืชกึ่งร้อน สามารถขึ้นได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน ชาปลูกได้ดีในพื้นที่สูง (200–2,000 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเล) ความลาดชันไม่เกิน 45 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 70-90% ปริมาณนํ้าฝน 1,500-2,500 มิลลิเมตร การปลูกชาสามารถปลูกได้ทั่วไปบนภูเขาสูง แต่แหล่งผลิตชาขาวที่มีชื่อเสียงของประเทศจีนอยู่ที่มณฑลฟูเจี้ยน (Fujian) เนื่องจากเป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,000 เมตร สภาพภูมิอากาศและผืนดินอุดมด้วยแร่ธาตุสมบูรณ์เหมาะสมแก่การปลูกชาขาว สามารถให้ผลผลิตชาขาวที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังพบการปลูกชาขาวทางตอนใต้ของจีนที่มณฑลหูหนาน (Hunan) มณฑลกว่างซี (Guangxi) และในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศอินเดียและทวีปแอฟริกามีการเพาะปลูกชาขาวได้แต่มีปริมาณน้อย แม้ว่าปริมาณผลผลิตชาขาวจะมีน้อยแต่การดื่มชาขาวกลับได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดยการส่งออกชาขาวของประเทศจีนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1891 และปัจจุบันส่งออกไปยังประเทศเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเก๊า

กรรมวิธีในการผลิต


ชาขาวเป็นพืชตามฤดูกาลโดยสามารถเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ การเก็บใบชาเพื่อนำมาทำชาขาวนั้นจะคัดเลือกเฉพาะยอดอ่อนที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ในฤดูใบไม้ผลิ ตูมชาที่มีรูปลักษณ์เหมือนเข็มและมีขนสีขาวประกายเงินปกคลุมอยู่ รวมไปถึงยอดอ่อน 2 ยอดแรกของต้นชาจะถูกเก็บ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ชาขาว ” หลังจากนั้นตูมชาที่ถูกเก็บมาจะถูกทำให้แห้งโดยวิธีธรรมชาติ ด้วยการตากแดดหรือผึ่งให้แห้งสนิท เมื่อชงชาขาวกับน้ำร้อนจะให้สีเหลืองอ่อน รสชาติหวาน นุ่มนวล กลมกล่อมและมีกลิ่นหอมเฉพาะ ชาขาวจึงกลายเป็นของที่หายาก และมีราคาแพง ซึ่งการผลิตสามารถทำได้ในทุกช่วงยกเว้นฤดูหนาว อย่างไรก็ดีชาขาวที่ผลิตในฤดูใบไม้ผลิเป็นชาขาวที่มีคุณภาพดีที่สุด ถัดมาเป็นชาขาวที่ผลิตในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และฤดูร้อนเป็นลำดับสุดท้าย ชาส่วนใหญ่ในโลกนี้มาจากต้นชาตระกูลเดียวกัน คือ สกุล Camellia แต่ต่างกันในขั้นตอน กรรมวิธีการผลิต และอายุของใบชา




ประเภทชาขาว


เนื่องจากความแตกต่างของมาตรฐานการเก็บและคัดสรรใบชา รวมทั้งความแตกต่างของสายพันธุ์และถิ่นที่ปลูก สามารถแยกประเภทของชาขาวได้ ดังนี้

  • ชาไป๋ห่าวหยินเซน (Bai Hao Yinzhen) แปลว่า เข็มเงิน (silver needle) ทำจากตูมชาที่มีรูปลักษณ์เหมือนเข็มซึ่งปกคลุมด้วยขนเล็กๆ สีขาว เป็นชาขาวที่มีคุณภาพดีที่สุด ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บอยู่ระหว่าง 15 มีนาคมถึง 10 เมษายนของทุกปี และจะต้องเก็บด้วยมือภายในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาไป๋มู่ตาน (Bai Mu Dan/Pai Mu Tan) แปลว่า ดอกโบตั๋นขาว (white peony) ชาไป๋มู่ตานมีคุณภาพเป็นอันดับสอง รองลงจากชาไป๋ห่าวหยินเซน เนื่องจากผลิตจากยอดและใบอ่อนชา แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชากงเหมย (Gong Mei) แปลว่า คิ้ว (tribute eyebrow) ตามลักษณะของใบชา ชากงเหมย ผลิตจากใบอ่อนชามีคุณภาพเป็นอันดับสาม รองลงจากชาไป๋มู่ตาน แหล่งเพาะปลูกที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาโซวเหมย ทำจากยอดชาและใบอ่อน มีกลิ่นและรสแรงกว่าชาขาวประเภทอื่นๆ มีคุณภาพดีเป็นอันดับสี่ รองลงจากชากงเหมยตามลำดับ ปลูกมากแถบมณฑลกว่างซีและมณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน
  • ชาขาวผู่เอ๋อร์ ชาที่ปลูกทางภาคใต้ของมณฑลหยุนหนาน เก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิ ชาขาวผู่เอ๋อร์เป็นชาขาวที่มีคุณภาพ มีกลิ่นหอม รสชาติดี
  • ชาขาวซีลอน มีกลิ่นแอลกอฮอล์อ่อนๆ ผสมกับกลิ่นสนและกลิ่นน้ำผึ้ง ปลูกในประเทศศรีลังกา
  • ชาขาวดาร์จีลิง มีรสนิ่มนวล กลิ่นหอมอ่อนๆ ปลูกในรัฐดาร์จีลิง ประเทศอินเดีย
  • ชาขาวอัสสัม มีกลิ่นหอมเฉพาะคล้ายข้าวมอลต์ (malty) ปลูกในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย
  • ชาขาวแอฟริกัน คล้ายชาไป๋ห่าวหยินเซน แต่มีกลิ่นและรสชาติที่แรง รวมทั้งมีปริมาณคาเฟอีนสูงกว่าชาจีน ปลูกในประเทศมาลาวีและเคนย่า


สารสำคัญในชาขาวที่มีประโยชน์




ชานั้นถือว่ามีประโยชน์ในร่างกายเพราะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุ อัลคาลอยด์ กรดอะมิโน น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) และน้ำ จากกรรมวิธีการผลิตชาขาวที่ผ่านกระบวนการเพียงเล็กน้อย ทำให้ชาขาวยังคงสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งส่วนประกอบต่างๆ ของชาขาวยังส่งผลต่อกลิ่น รสชาติ และบ่งบอกถึงคุณภาพของชา



สารต้านอนุมูลอิสระ


สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในชาขาวส่วนใหญ่เป็นสารโพลีฟีนอล (polyphenol) จำพวกสารคาเทชิน (catechin)] ซึ่งพบมากถึง 70% ของปริมาณสารโพลีฟีนอลทั้งหมดที่มีในชาขาว มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ คือ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดระดับของคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย ไวรัส และป้องกันฟันผุ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากการบริโภคชาขาวหนึ่งแก้ว พบว่าการบริโภคชาขาวได้รับสารปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผักโขม บร๊อคโคลี่ สตรอเบอรี่ ในสัดส่วนการบริโภคที่เท่ากัน จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและสารอาหารจากพืชผักชนิดต่างๆ กว่า 21 ชนิดและสารสกัดจากสมุนไพรประเภทต่างๆ ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ พบว่า สารอาหารที่มีประโยชน์ในชาขาวมีปริมาณมากกว่าพืชและสารสกัดจากสมุนไพรชนิดอื่นๆ การดื่มชาขาวจึงมีผลดีต่อสุขภาพมาก


ประโยชน์ของชาขาวต่อสุขภาพ



ชาขาวถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งชาขาวถือว่ามีประโยชน์มาทางด้านนี้ เพราะมีสารโพลีฟีอลประเภท EGCG สูงทำให้มีประโยชน์มากกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งชาขาวยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านโรคเรื้อรัง การต้านสารก่อมะเร็ง (anticarcinogenicity) การต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) และการยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ (antimicrobial activity) ชาขาวกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป



คุณสมบัติต้านมะเร็ง




เป็นที่ทราบกันว่า ชาเขียวมีคุณสมบัติในการต้านสารก่อมะเร็ง เพราะชาเขียวมีปริมาณสารคาเทชินและสารโพลีฟีนอลอื่นๆ มาก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปริมาณและคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระเปรียบเทียบระหว่างชาขาวและชาเขียวของ มหาวิทยาลัยโอไฮโอเซาเทิร์น ( Ohio University Southern) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงกว่าชาเขียว การดื่มชาขาวจึงน่าจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการต้านโรคมะเร็งที่ดีกว่าชาเขียวหรือชาชนิดอื่น โดยหากอ้างอิงจากคุณสมบัติของชาเขียวที่ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับ ผิวหนัง และกระเพาะอาหาร ชาขาวก็ย่อมมีประสิทธิภาพในการยับยั้งมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ดีกว่า เพราะประกอบไปด้วย EGCG ที่มากกว่า ทั้งนี้ข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ในชาขาวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ และตัวต้านการเกิดปฏิกิริยาของสารอื่น ๆ กับออกซิเจนทำสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับหัวใจ



มะเร็งผิวหนัง




จากการทดลองของมหาวิทยาลัยโคเปนไฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์คร่วมกับ Stephens & Associates Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สารสกัดชาขาวสามารถยับยั้งและป้องกันการถูกทำลายของสารพันธุกรรม (DNA) ในเซลล์หลังการสัมผัสแดด เพราะฉะนั้นสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาว จะช่วยปกป้องผิวจากภายใน โดยป้องกันการสูญเสียโปรตีนในชั้นผิวจากกระบวนการออกซิเดชั่น มีส่วนในการปกป้องเซลล์ผิว ทำให้สามารถปกป้องผิวจากมลภาวะและแสงแดด อันเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอยหรือจุดด่างดำ พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันผิว ยับยั้งอนุมูลอิสระที่มีสาเหตุมาจากรังสียูวี ซึ่งหากระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ผิวยังทำงานได้อย่างปกติ ถือเป็นส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และช่วยให้ต่อมน้ำเหลืองขจัดสารพิษออกจากผิว ทำให้ผิวไม่แห้งกร้าน และยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่น ของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่าง ๆ และผิวหนังทำงานได้ดี



มะเร็งลำไส้ใหญ่




จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออริกอนสเตท (Oregon State University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยงานวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาขาวมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการใช้ยาซูลินแด เพื่อยับยั้งและป้องการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ของสัตว์ทดลองที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็ง นอกจากนี้สารในชาขาวยังช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดคลอเรสเตอรอลชนิด LDL หรือไขมันเลว และเพิ่มปริมาณคลอเรสเตอรอล HDL หรือไขมันดี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไขมันอุดตันหลอดเลือด



คุณสมบัติป้องกันโรคหัวใจ




ข้อมูลการศึกษาจาก Internal Medicine and Public Health ประเทศอิตาลี พบว่า การทดลองให้สัตว์ทดลองบริโภคสารฟลาโวนอยด์เป็นประจำสามารถชะลอการเกิดการสะสมไขมันที่หลอดเลือดแดงได้ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลการบริโภคชากับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ สารฟลาโวนอยด์ในชาสามารถลดการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้ โดยเฉพาะสาร EGCG ในชา สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การเพิ่มของไนตริกออกไซด์ในปฏิกิริยา superoxide production (ROS) และช่วยควบคุมความดันโลหิตสูง โดยไปยับยั้ง angiotensis-I converting enzyme (ACE) นอกจากนี้ยังพบว่าสารโพลีฟีนอลในชา สามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL และช่วยลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง ทำให้ปริมาณ LDL, very low-density lipoprotein (VLDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง รวมทั้งสามรถเพิ่มปริมาณ HDL ในกระแสเลือด ซึ่งการมีปริมาณที่ไตรกลีเซอไรด์ต่ำและ HDL สูงนี้สะท้อนถึงสุขภาพของระบบหัวใจที่ดี



คุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน




การศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารโพลีฟีนอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยแป้งให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสทั้งในน้ำลายและลำไส้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ แป้งจะถูกย่อยช้าลง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการดูดซึมกลูโคส มีผลทำให้การทำงานของ glucose transporter ในลำไส้ลดลงและอัตราการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่ร่างกาย ลดลงด้วยนอกจากนี้สารโพลีฟีนอล ประเภท EGCG ยังช่วยเพิ่มความไวต่อสิ่งกระตุ้นของอินซูลิน (insulin sensitivity) และ สารที่มีหน้าที่คล้ายอินซูลิน (insulin-like activity) รวมทั้งเพิ่มการป้องกันการทำงานของตับและตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน



คุณสมบัติต้านจุลินทรีย์




สารโพลีฟีนอลมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย โดยเชื่อกันว่า สารโพลีฟีนอลสามารถทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย จากการศึกษาของ Dyson College of Arts and Sciences มหาวิทยาลัยเพซ (Pace University) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีกว่าชาเขียว โดยการวิจัยพบว่า ชาขาวสกัด (white tea extract) อาจสามารถใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดที่เกิดจากเชื้อ Staphylococcus, Streptococus นอกจากนี้ชาขาวมีประสิทธิภาพที่ดีในการหยุดการทำงานของไวรัสและเชื้อรา จากผลการทดลองที่พบทำให้คาดว่า ชาขาวสกัดสามารถต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ และชาขาวสกัดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราประเภท Penicillium chrysogenum และ Saccharomyces cerevisiae ซึ่งปัจจุบัน ชาขาวสกัด ถูกใส่ลงไปในยาสีฟันหลายยี่ห้อที่ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา


คุณสมบัติป้องกันฟันผุ




สารในชาขาวมีฤทธิ์เป็นสารปฏิชีวนะที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหลายชนิดจึงสามารถลดอาการอักเสบและติด เชื้อในช่องปากได้ โดยสารโพลีฟีนอลสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคในช่องปาก Porphyromonas gingivilis และ แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ Streptococcus mutans นอกจากนี้สารโพลีฟีนอลยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายช่วยให้การผลิตกลูโคสและมอลโตสน้อยลง ลดปริมาณอาหารของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ



คุณสมบัติต้านโรคอ้วน




สรรพคุณของชาขาวประการหนึ่ง คือ การช่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากสารคาเฟอีนและสารคาเทชินในชาขาว ช่วยให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายดีขึ้น เผาผลาญพลังงานได้มาก เป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยที่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระและสารสกัดทางธรรมชาติเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านไขมันและโรคอ้วน สารต้านอนุมูลอิสระจำพวกโพลีฟีนอล สามารถยับยั้ง catechol-O-methyl transferase จึงช่วยกระตุ้นการสร้างความร้อนของร่างกาย ซึ่งช่วยเผาผลาญพลังงานและช่วยจัดการกับโรคอ้วน ทั้งยังมีคุณสมบัติในการชะลอการปล่อยกลูโคสสู่กระแสเลือด ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องคุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน ซึ่งทำให้ชะลอการสร้าง อินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้ร่างกายสะสมไขมัน ดังนั้น ร่างกายจึงเผาผลาญไขมันแทนที่จะสะสมไขมัน

ในการทดลองประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาวและชาเขียวต่อการยับยั้งเอมไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเอมไซม์ชนิดนี้มีหน้าที่ในการย่อยกรดไขมันให้มีขนาดเล็กและสามารถดูดซึมเข้าสู่ลำไส้เล็กได้ ชาขาวแสดงประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ pancreatic lipase สูงกว่าชาเขียว พิจารณาได้จากปฏิกิริยาการต้านสารอนุมูลอิสระจากค่า EC50 (Median Effective Concentration) พบว่า ค่า EC50 ของชาขาวมีค่าอยู่ที่ 22 µg GAE/ml ซึ่งน้อยกว่าค่า EC50 ของชาเขียวที่ 35 µg GAE/ml แสดงถึง ประสิทธิภาพของชาขาวในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีสูงกว่าชาเขียวในการการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่มีผลต่อโรคอ้วน นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังมีการเหนี่ยวนำการเกิดกระบวนการทำลายเซลล์ (apoptosis), การลดลงของกระบวนการสะสมไขมันและกระตุ้นกระบวนการทำลายไขมันในเซลล์ในสัตว์ทดลอง มีการศึกษาผลการออกฤทธิ์ของสารสกัดชาขาวต่อเซลล์ไขมัน (pre-adipocytes and adipocytes) ในกระบวนการสร้างเซลล์ไขมัน (adipogenesis) และกระบวนการสลายไขมันในเซลล์ (lipolysis) พบว่า สารสกัดจากชาขาวมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณการสร้างเซลล์ไขมัน และสามารถทำลายไขมันในเซลล์ไขมันได้ โดยที่สารสกัดชาขาวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเกิดการแสดงออกที่ลดลงของยีนส์ SIR1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน และมีผลต่อขั้นตอนการรวมตัวของไตรกลีเซอไรด์ในกระบวนการสร้างเซลล์ไขมันระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ จาก pre-adipocytes ไปสู่ adipocytes ซึ่งทำให้มีผลต่อจำนวนเซลล์ไขมันที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้และในขณะเดียวกันก็มีกระตุ้นกระบวนการสลายไขมันซึ่งเก็บสะสมไว้ในเซลล์โดยเพิ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงไตรกลีเซอไรด์ไปเป็น กรดไขมันและกลีเซอรอล การดื่มชาขาวเป็นประจำจึงอาจเป็นวิธีทางธรรมชาติซึ่งสามารถลดโอกาสที่จะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้อีกด้วย


คุณสมบัติเพิ่มภูมิคุ้มกัน



ตูมชาขาวมีสารโพลีฟีนอลอยู่มากที่เป็นสิ่งทรงพลัง ช่วยพัฒนากระบวนการล้างสารพิษและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย จึงช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจาก การเสื่อมสภาพและถูกทำลายก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติและปรับสภาพอนุมูลอิสระให้เป็นกลาง จากข้อมูลในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ระบุว่าสารคาเทชินในชาขาว โดยเฉพาะ EGCG มีสรรพคุณป้องการติดเชื้อเอชไอวีผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่า ชาขาวเข้มข้นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอทีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เรียกว่า “ ทีเซลล์ ” (T Cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้



คุณสมบัติชะลอความแก่



ชาขาวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงมากและยังสามารถช่วยชะลอความแก่ เซลล์ผิวหนังจะถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระภายใต้ภาวะกดดันในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้มลภาวะและแสงแดดแดด จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษ ในการใช้สารสกัดจากชาขาวต่อการปกป้องโครงสร้างโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง พบว่าสารที่สกัดจากชาขาวสามารถปกป้องการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายอีลาสตินและคอลลาเจน ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่นทำให้เกิดผลดีต่อโครงสร้างของผิวหนัง คือ เสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่นของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่าง ๆ และผิวหนังทำงานได้ดีด้วย













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น