16 พฤษภาคม 2561

เหตุใดเมแกน มาร์เคิล จะไม่มียศเป็น “เจ้าหญิง” ?

เหตุใดเมแกน มาร์เคิล จะไม่มียศเป็น “เจ้าหญิง” ?








เจ้าชายแฮร์รี กับ น.ส.เมแกน มาร์เคิล Image copyright EPA
คำบรรยายภาพ กฎหมายและจารีตโบราณที่ซับซ้อน เป็นตัวกำหนดตำแหน่งยศในราชวงศ์ที่ น.ส.เมแกน มาร์เคิล จะได้รับ

หลายคนอาจสงสัยว่า หลังเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายแฮร์รีแห่งเวลส์แล้ว น.ส.เมแกน มาร์เคิล จะได้มียศในราชวงศ์อังกฤษเป็น "เจ้าหญิงเมแกน" โดยอัตโนมัติเลยหรือไม่ คำตอบที่มีอยู่อาจสร้างความผิดหวังให้กับใครหลายคน เพราะเป็นที่แน่นอนว่าสามัญชนที่ไม่มีเลือดสีน้ำเงิน จะไม่สามารถดำรงยศเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายในราชวงศ์อังกฤษได้
เฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายของกษัตริย์โดยตรง เช่น เจ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง หรือเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา รวมทั้งเจ้าหญิงเบียทริซ และเจ้าหญิงยูจีนีพระราชนัดดา สามารถดำรงพระยศเป็น "เจ้าหญิง" ในราชวงศ์อังกฤษได้อย่างถูกต้อง
ในขณะที่บรรดาพระสุณิสาซึ่งเป็นสามัญชน เช่น ซาราห์ เฟอร์กูสัน ดัชเชสแห่งยอร์ก หรือโซฟี รีส โจนส์ เคาน์เตสส์แห่งเวสเซกซ์ ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "เจ้าหญิงซาราห์" หรือ "เจ้าหญิงโซฟี" ได้แต่อย่างใด
แม้แต่ "เจ้าหญิงไดอานา" ซึ่งเป็นพระนามที่คุ้นหูกันทั่วไปนั้น ก็ไม่ใช่พระยศที่เป็นทางการ คำเรียกขานที่ถูกต้องคือ "เจ้าหญิงแห่งเวลส์" และหลังจากการหย่าร้างกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระนามที่เป็นทางการคือ "ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์" ซึ่งไม่ใช่ยศเจ้าหญิงตามชาติกำเนิดแต่อย่างใด


ไดอานา
คำบรรยายภาพ ที่จริงแล้วไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ไม่สามารถจะใช้พระนาม "เจ้าหญิงไดอานา" ได้อย่างเป็นทางการ

กฎเกณฑ์เดียวกันนี้เคยถูกใช้มาแล้วกับแคเธอรีน มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เมื่อเข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ในปี 2011 ทันทีที่ทั้งคู่ได้รับการประกาศให้เป็น "สามีภรรยา" กัน แคเธอรีนจะมีคำนำหน้าชื่อว่า Her Royal Highness ซึ่งแสดงถึงการเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของพระราชวงศ์โดยอัตโนมัติ ทั้งยังได้เป็นดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ในทันที หลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าชายวิลเลียมดำรงพระยศดยุคแห่งเคมบริดจ์รอไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว


แคเธอรีน มิดเดิลตัน Image copyright Getty Images
คำบรรยายภาพ กฎเกณฑ์ที่ใช้กับแคเธอรีน มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ (ซ้าย) จะถูกนำมาใช้กับ น.ส.เมแกน มาร์เคิล เช่นเดียวกัน

คาดว่ากระบวนการเดียวกันนี้จะถูกนำมาใช้ในกรณีของ น.ส.มาร์เคิล ด้วย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องตำแหน่งยศของสตรีสามัญชนที่เข้ามาเป็นพระสุณิสา (สะใภ้) ของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งจะไม่สามารถเรียกขานกันได้ว่าเป็น "เจ้าหญิง" แต่จะมียศตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากชาติกำเนิดไว้รองรับ เพื่อนำมาใช้เรียกขานกันอย่างเป็นทางการ เช่นดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เคาน์เตสส์แห่งเวสเซกซ์ หรือตำแหน่งดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ของคามิลลา พระชายาในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
ยศเหล่านี้มักมีการโปรดเกล้าฯ สถาปนาแก่พระราชวงศ์ก่อนที่จะเข้าพิธีเสกสมรสกับสามัญชน เพื่อให้พระสุณิสาผู้มาใหม่มียศตำแหน่งที่สมฐานะโดยไม่ต้องเป็น "เจ้าหญิง"


การมี "เลือดสีน้ำเงิน" เป็นเครื่องตัดสินว่าผู้นั้นจะมีสิทธิ์ดำรงพระยศ "เจ้าหญิง" ในราชวงศ์อังกฤษ Image copyright PA
คำบรรยายภาพ การมี "เลือดสีน้ำเงิน" เป็นเครื่องตัดสินว่าผู้นั้นจะมีสิทธิ์ดำรงพระยศ "เจ้าหญิง" ในราชวงศ์อังกฤษ

มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าชายแฮร์รีดำรงพระยศดยุคแห่งซัสเซกซ์ (Sussex) ซึ่งเป็นตำแหน่งฐานันดรที่ว่างมานาน ซึ่งจะทำให้ น.ส.มาร์เคิลได้เป็นดัชเชสแห่งซัสเซกซ์หลังการเสกสมรสโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม คาดว่ายศดยุคแห่งอัลบานีหรือดยุคแห่งคลาเรนซ์ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

CR  :: https://www.bbc.com/thai/international-42161913

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น