16 พฤษภาคม 2561

กรณี 'เจ้าชายแฮร์รี-เมแกน' เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมอังกฤษ

กรณี 'เจ้าชายแฮร์รี-เมแกน' เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมอังกฤษ



แม้ผู้คนจำนวนมากจะแสดงความยินดีกับเจ้าชายแฮร์รีและพระคู่หมั้นที่จะเสกสมรสกันในปีหน้า แต่สื่ออังกฤษระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนว่ากลุ่มคนรายได้สูงเพียง 1 ใน 3 ของประเทศเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้แต่งงานกับคนที่ตัวเองรัก
เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์ สื่อฝ่ายซ้ายของอังกฤษ รายงานว่ากฎหมายการอพยพย้ายถิ่นฐานของกระทรวงมหาดไทยฉบับแก้ไข ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2012 (พ.ศ.2555) เป็นเงื่อนไขหนึ่งซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปจำนวนมาก ไม่สามารถใช้ชีวิตกับคู่สมรสของตัวเองในอังกฤษได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวระบุว่า พลเมืองอังกฤษที่จะขออนุญาตให้คู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติและไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรปมาพำนักอาศัยถาวรในอังกฤษ จะต้องมีรายได้ครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 18,600 ปอนด์ หรือประมาณ 800,000 บาทต่อปี หรือในกรณีที่แต่ละครอบครัวมีบุตรก็จะต้องมีรายได้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หลายครอบครัวจึงไม่สามารถพาคู่สมรสต่างชาติมาอยู่ด้วยกันได้หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับแก้ไข และเป็นต้นตอของปัญหาครอบครัวอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาหย่าร้าง  
เจ้าชายแฮร์รีทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ และทรงมีรายได้ต่อปีมากกว่ารายได้ครัวเรือนขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ทำให้ 'เมแกน มาร์เคิล' พระคู่หมั้นชาวอเมริกัน สามารถเดินทางมาใช้ชีวิตที่อังกฤษได้ แต่คนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีรายได้ถึงเพียงนั้น ก็ต้องแยกกันอยู่กับคู่สมรส ทำให้สื่ออังกฤษระบุว่า กรณีของเจ้าชายแฮร์รีและมาร์เคิล เป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำที่ยังคงอยู่ในสังคมอังกฤษ
ดิอินดีเพนเดนท์ยกตัวอย่างกรณีชายชาวอังกฤษรายหนึ่งซึ่งแต่งงานกับหญิงชาวสิงคโปร์ 'ไอรีน แคลนเนล' โดยทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมานานกว่า 27 ปี แต่มีเหตุให้ต้องแยกกันอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องจากฝ่ายหญิงต้องไปดูแลแม่ที่ป่วยที่สิงคโปร์ เมื่อกฎหมายการอพยพย้ายถิ่นฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ ทำให้แคลนเนลถูกส่งตัวกลับสิงคโปร์ เพราะตอนที่เดินทางกลับเข้าอังกฤษ เธอได้รับการตรวจลงตราวีซ่าแบบนักท่องเที่ยว ซึ่งหมดอายุในระยะสั้น ทั้งคู่ต้องร้องเรียนต่อศาลหลายครั้ง และบอกเล่าความไม่เป็นธรรมนี้ผ่านสื่อ จนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษยอมอนุญาตให้เธออยู่กับสามีได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 
AP17331516038650.jpg
แม้การกำหนดรายได้ครัวเรือนขั้นต่ำจะได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายว่าเป็นนโยบายที่ดี ช่วยป้องกันไม่ให้รัฐบาลอังกฤษต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลคู่สมรสชาวต่างชาติ แต่ขณะเดียวกัน สื่ออังกฤษก็ตั้งคำถามว่า "สังคมควรตีราคาความรักและชีวิตสมรสจริงหรือ" และหากคู่รักไม่สามารถหารายได้ขั้นต่ำรวมกันได้ตามเป้า ก็หมายความว่าพวกเขาไม่ควรจะแต่งงานกันอย่างนั้นใช่หรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การพิจารณาออกกฎระเบียบโดยคำนึงถึงรายได้เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะเข้าข่ายละเมิดกฎหมายอังกฤษว่าด้วยการคุ้มครองสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของพลเมืองด้วยเช่นกัน
ดิอินดีเพนเดนท์ได้อ้างอิงข้อมูลในรายงานสำรวจผลกระทบจากการกำหนดรายได้ครัวเรือนขั้นต่ำ ที่มีต่อเยาวชนอังกฤษซึ่งมีผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ จัดทำโดยคณะกรรมาธิการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเยาวชน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของอังกฤษ พบว่าเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 15,000 คน เพราะผู้ปกครองถูกส่งตัวกลับประเทศนอกเขตเศรษฐกิจยุโรป หรือแม้แต่ผู้ปกครองเยาวชนที่มาจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ก็ถูกส่งตัวกลับประเทศเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่อังกฤษลงประชามติแยกตัวจากอียู หรือเบร็กซิท เมื่อปีที่ผ่านมา
ในขณะที่คำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกำหนดนโยบายเลือกปฏิบัติยังไม่ยุติลง สำนักพระราชวังเคนซิงตันได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงก่อนหน้านี้แล้วว่า มาร์เคิลจะไม่รับอภิสิทธิ์ใดๆ ในฐานะพระคู่หมั้นของเจ้าชายแฮร์รี และหลังจากเข้าพิธีเสกสมรสแล้ว เธอจะต้องไปสอบวัดความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมอังกฤษเพื่อทำเรื่องขอวีซ่าในการอยู่อาศัยในประเทศไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ และมาร์เคิลจะไม่ขอรับตำแหน่งเจ้าหญิงด้วยเช่นกัน
CR  ::  https://voicetv.co.th/read/B1jD_7hez



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น