10 เมษายน 2555

คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ

คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ




ผู้เป็นเบาหวาน คือ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เลือดต้องมีน้ำตาลอยู่บ้างเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และอวัยวะต่างๆ แต่น้ำตาลสูงเกินไปก็เป็นโทษกับสุขภาพได้
น้ำตาลในเลือดมาจากอาหารที่รับประทาน นอกจากนี้มาจากการผลิตจากตับ และจากกล้ามเนื้อด้วย เลือดเป็นตัวนำน้ำตาลไปที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อินซูลิน คือ สารหรือฮอร์โมนที่หลั่งจากตับอ่อนเพื่อเป็นตัวนำพาน้ำตาลจากอาหารเข้าเซลล์ ถ้าร่างกายผลิตอินซูลินไม่พอหรือถ้าอินซูลินทำงานได้ไม่เต็มที่ น้ำตาลก็จะเข้าไปในเซลล์ไม่ได้ จึงส่งผลให้เลือดมีน้ำตาลสูง

เบาหวานที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ ที่เรียกว่าเบาหวานประเภทที่ 2 อาจเกิดขึ้นช่วงอายุใดก็ได้ แม้กระทั่งวัยเด็ก เบาหวานชนิดนี้เกิดจากภาวะต้านอินซูลิน นั่นคือ เซลล์ต่างๆ ไม่สามารถใช้อินซูลินได้เต็มที่ ในช่วงแรกๆ ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น แต่แล้วตับอ่อนก็จะไม่สามารถหลั่งอินซูลินมาเพื่อตอบสนองกับน้ำตาลสูงๆ ได้ การมีน้ำหนักตัวมากและขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่2 มาก เมื่อผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้มากเท่าที่ต้องการจึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน


ถ้าน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์คุมได้ไม่ดีจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งโรคตา โรคไต โรคระบบประสาท แต่ที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือ โรคหัวใจ ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หรือเส้นเลือดสมองแตกมากเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่เป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้คือ ต้องคุมไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด
การตรวจน้ำตาลเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ทราบว่าแบบแผนการรับประทาน และการออกกำลังกายเหมาะสมหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรอตรวจเฉพาะช่วงเช้าตอนตื่นนอน แต่จะตรวจ 1 ถึง 2 ชั่วโมงหลังอาหาร หรือจะเป็นช่วงก่อนนอนก็ได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะยากสักนิดที่จะคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ตลอดเวลา แต่ถ้าระดับน้ำตาลใกล้เป้าหมายเท่าใด ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อ

ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลดลง และจะทำให้คุณรู้สึกสบายขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นขั้นเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จะช่วยได้มาก


เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวานคือ
ช่วงเวลา
เป้าหมายระดับน้ำตาล (มก./ดล.)
ก่อนอาหารเช้า
90 – 130
1-2 ชม. หลังอาหาร
< 180


ผู้เป็นเบาหวาน ควรมีแบบแผนการรับประทานอาหารที่เฉพาะเจาะจงให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของตนเอง ควรให้แพทย์แนะนำไปปรึกษากับนักกำหนดอาหาร เพื่อให้จัดแบบแผนการรับประทานขึ้นมา
อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานไม่น่าแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว ซึ่งควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนจากอาหารหลากหลาย มีสารอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้


 
สิ่งหนึ่งที่ผู้ฉีดอินซูลินมักประสบเมื่อมีน้ำหนักลง หรือเมื่อรับประทานอาหารไม่ได้ คือ จะมีภาวะน้ำตาลต่ำบ่อย จึงควรสังเกตอาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย มึน ใจสั่นมือสั่น หงุดหงิด ปวดศีรษะ รู้สึกหิว ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ช็อกเป็นลมได้


 
วิธีแก้ภาวะน้ำตาลต่ำควรปฏิบัติดังนี้

ถ้ามีเครื่องเจาะน้ำตาล ควรเจาะน้ำตาลในเลือด ถ้าน้ำตาลต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรรีบหาน้ำหวาน น้ำผลไม้ดื่มครึ่งแก้ว (120 ซีซี) หรือกินน้ำตาลทราย หรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา หรือดื่มนมหวาน 1 แก้ว (120 ซีซี) ทันที
ควรรอประมาณ 15 นาที หลังได้รับน้ำตาลแล้วจึงควรตรวจน้ำตาลอีกครั้ง ถ้ายังไม่ถึง 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรปฏิบัติข้อ 1 อีกครั้ง
เมื่อระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรแล้ว อาจรอจนมื้ออาหารถัดไป ถ้ามื้ออาหารอยู่ในช่วงภายใน 1 ชั่วโมง แต่ถ้านานไปกว่านั้น ควรรับประทานมื้อว่างที่มีประโยชน์ไปก่อน


ข้อควรระวังสำหรับการแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำ

อย่ารับประทานของหวาน/น้ำหวาน มากเกินกว่าที่แนะนำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลแกว่งและทำให้คุมได้ยาก น้ำหนักตัวลงยากด้วย
อย่ารับประทานของหวานที่มีไขมันสูง โปรตีนสูง และ/หรือแป้งเชิงซ้อน (ข้าว ขนมปัง เส้นต่างๆ) สูง เพราะจะย่อยช้าไม่ช่วยให้น้ำตาลสูงขึ้นทันที แต่จะไปสูงเอาอีกหลายชั่วโมงถัดมา ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น
ควรรีบบอกแพทย์ทันที เมื่อมีภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อให้แพทย์ปรับลดอินซูลิน


วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำทำได้โดย

รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ถ้าต้องเดินทางควรดูว่าจะรับประทานอาหารได้ตอนไหน ถ้าคิดว่าจะนานเกินไปหรือจะหาซื้ออาหารได้ลำบาก ควรพกอาหารติดตัวไปด้วย
รับประทานอาหารในปริมาณอาหารที่ใกล้เคียงกันทุกวัน
ห้ามอดมื้ออาหาร
ฉีดอินซูลินตามที่แพทย์แนะนำ และให้เป็นเวลา
ตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น