10 เมษายน 2555

อาหารสำหรับผู้สูงอายุ (2)

อาหารสำหรับผู้สูงอายุ (2)



 ผู้สูงอายุมีความต้องการปริมาณอาหารลดน้อยลง แต่ความต้องการสารอาหารอื่นๆ ยังคงเท่าเดิม ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุจึงควรมีปริมาณและคุณภาพพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย คือ ครบทั้ง 5 หมู่
อาหารหมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ

เนื้อสัตว์ ควรทำให้สะดวกต่อการเคี้ยว โดยสับให้ละเอียดหรือต้มให้เปื่อย อาหารปลาจะเหมาะมากสำหรับผู้สูงอายุ แต่ควรเลือกก้างออกให้หมด ตามปกติควรให้ผู้สูงอายุได้บริโภคเนื้อสัตว์ ประมาณวันละ 120 -160 กรัม (น้ำหนักขณะดิบ) ปริมาณนี้สามารถลดลงได้ถ้ามีการบริโภค ไข่ ถั่วหรือนมอีก

ไข่ เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก ในไข่แดงมีแร่ธาตุเหล็กในปริมาณสูง ไข่เป็นอาหารที่นิ่มเคี้ยวง่าย ย่อยและดูดซึมได้ดี โดยปกติในผู้สูงอายุที่ไม่มีปํญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ควรได้บริโภคไข่ สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง โดยต้มหรือทอดจนสุกหรือผสมลงในกับข้าว ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ควรเลือกรับประทานเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น

นม เป็นอาหารที่ให้แคลเซียมและโปรตีนสูง ผู้สูงอายุควรดื่มนมวันละ 1 แก้ว สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง หรือน้ำหนักตัวมากแนะนำให้ดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองแทนได้

ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงและมีราคาถูก ใช้แทนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้ ก่อนบริโภคควรนำมาปรุงให้มีลักษณะนิ่มเสียก่อน ถั่วเมล็ดแห้งนำไปประกอบเป็นทั้งอาหารคาว และอาหารหวานได้ หรือจะบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เป็นต้น


อาหารหมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน

     อาหารหมู่นี้เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ ผู้สูงอายุควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะไม่ควรรับประทานมากเกินไป


อาหารหมู่ที่ 3 ผักต่างๆ

     เป็นอาหารที่ผู้สูงอายุเลือกรับประทานได้ค่อนข้างมาก เพราะผักเป็นอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ทั้งผักสีเขียว และสีเหลือง เป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินซี เป็นต้น ผู้สูงอายุควรเลือกรับประทานผักหลายๆ ชนิดสลับกัน แต่ควรเป็นผักที่ต้มสุกหรือนึ่งจนสุกนุ่ม ไม่ควรบริโภคผักดิบเพราะย่อยยากและจะทำให้เกิดปัญหามีแก๊ส ท้องอืด ท้องเฟ้อได้




อาหารหมู่ที่ 4 ผลไม้ต่างๆ 

     ผลไม้เป็นอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายคล้ายกับอาหารหมู่ที่ 3 มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ผู้สูงอายุควรรับประทานผลไม้ทุกวันเพื่อที่จะได้รับวิตามินซีและเส้นใยอาหาร ควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่มเคี้ยวง่าย ได้แก่ มะละกอ กล้วยสุก ส้ม สำหรับผู้ที่อ้วนมาก หรือเป็นเบาหวานไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดมากนัก เช่นลำไย ทุเรียน ขนุน น้อยหน่า เป็นต้น



อาหารหมู่ที่ 5 ไขมันจากสัตว์ และพืช

    อาหารหมู่นี้ให้พลังงานแก่ร่างกาย และช่วยในการดูดซึมวิตามินบางชนิดแม้ว่าจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ควรรับประทานมาก เพราะจะทำให้อ้วนและไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้

นอกจากนี้อาหารไขมันยังทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อหลังอาหารได้ ควรใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิคในการปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ หลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์ และน้ำมันมะพร้าว

ตัวอย่างปริมาณอาหารที่ผู้สูงอายุควรบริโภคใน 1 วัน
หมู่อาหาร ชนิดของอาหารปริมาณต่อวัน ข้อเสนอแนะ
หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ : ไก่ หมู เนื้อ
นม
ไข่
120-160 กรัม 250 มล.
1ฟอง
= 1 แก้ว
3 – 4 ฟอง/สัปดาห์
หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง เผือก มัน 3 – 4 ถ้วยข้าวสุก มื้อละ 2 ทัพพี
หมู่ที่ 3ผักใบเขียว สด/ต้ม
ผักสีเหลือง
1 ถ้วย
1/2 ถ้วย
ตำลึง คะน้า ผักบุ้ง ฯลฯ
ฟักทอง มะเขือเทศ แครอท
หมู่ที่ 4ผลไม้ : ผลไม้สุก 1 – 2 ครั้ง งดผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย องุ่น ฯลฯ โดยเฉพาะคนอ้วน
หมู่ที่ 5ไขมัน : น้ำมันพืช2 ช้อนโต๊ะงดน้ำมันสัตว์ เนย


การดูแลเรื่องของอาหารเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน

1. ดัดแปลงลักษณะของอาหารให้สามารถเคี้ยวได้ง่าย เช่น สับละเอียด ต้มเปื่อย หรือปรุงให้มีลักษณะค่อนข้างเหลว
2. ปรุงรสชาติของอาหารตามความชอบของแต่ละคน เช่น หวานขึ้นเล็กน้อยหรือจืดลง หรือไม่ควรเค็มมาก เป็นต้น
3. อาจลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อ แล้วเพิ่มมื้ออาหารให้มากขึ้น เช่นจากวันละ 3 มื้อ เป็น
5 มื้อ โดยแต่ละมื้อให้รับประทานในปริมาณที่น้อยลง
4. จัดแต่งอาหาร โดยใช้พืชผักที่มีสีสันสวยงาม และเสิร์ฟอาหารที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ร้อนๆเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำย่อย
5. ควรให้ผู้สูงอายุได้บริโภคอาหารมื้อหนักตอนกลางวัน หรือบ่ายแทนการบริโภคอาหารหนักในมื้อเย็นเพื่อช่วยให้การนอนหลับพักผ่อนดีขึ้น
6. พยายามหลีกเลี่ยงน้ำชา กาแฟ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน


 http://www.chulalongkornhospital.go.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น