|
อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน อาหารที่เรา บริโภคประจำวันนั้น ในด้านโภชนาการสามารถจำแนกได้เป็น 5 หมู่ อันประกอบไปด้วย
เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่วต่าง ๆ ที่ให้สารอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยในการซ่อมแซม ส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
ข้าว แป้ง และน้ำตาล รวมทั้งเผือก มัน ชนิดต่างๆ ในอาหาร หมู่ที่ 2 นี้ จะให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย คือ สารอาหารคาร์โบไฮเดรต ซึ่งสารอาหารชนิดนี้จะเปลี่ยนแปลงในร่างกายให้พลังงาน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ
ผักใบเขียวและผักอื่นๆ ซึ่งจะให้สารอาหารพวกวิตามินและ เกลือแร่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญในการควบคุมการทำงาน ของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ ผักยังมีใยอาหาร ซึ่งช่วยในการขับถ่าย
ผลไม้ต่างๆ ผลไม้ก็จะให้สารอาหารจำพวกวิตามินและเกลือ แร่ เช่นเดียวกับหมู่ที่ 3 ผลไม้นอกจากจะมีวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ผลไม้ยังมีกากใยอาหารมากเช่นเดียวกับผักซึ่งช่วยในการขับถ่าย
ไขมันจากพืชและสัตว์ ซึ่งจะให้กรดไขมันที่ร่างกายต้องการ ไขมันจะให้พลังงานแก่ร่างกาย ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ของอวัยวะที่สำคัญ โดยเฉพาะเนื้อเยื่อสมอง และประสาท |
ผู้สูงอายุ | |
|
|
|
|
แหล่งที่มาของไขมัน
แหล่งที่มาของไขมันมีอยู่ 2 ชนิด คือ
ไขมันที่มาจากพืช จะเป็นแหล่งไขมันที่ดี มีกรดไขมันจำเป็น ต่อร่างกายที่สำคัญคือ กรดไขมัน Linoleic ซึ่งจะมีมากในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด ฯลฯ น้ำมันจากพืชนี้นอกจากจะให้กรดไขมันที่จำเป็น ต่อร่างกายแล้ว เหมาะสำหรับใช้ในผู้สูงอายุที่มีสารคอเลสเตอรอล ในร่างกายสูง และโรคหัวใจขาดเลือด
ไขมันที่มาจากสัตว์ จะเป็นแหล่งไขมันที่เป็นชนิดอิ่มตัว และมีกรดไขมันที่ไม่จำเป็นสำหรับร่างกาย เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว ฯลฯ น้ำมันที่มาจากแหล่งนี้ จะมีจำนวน คอเลสเตอรอลสูง ซึ่งจะไปจับที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแคบลง ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ด้วย เนื้อสัตว์ทุกชนิด จะมีไขมันพวกนี้อยู่มาก โดยเฉพาะหมูสามชั้น ขาหมู เบคอน ไขมันเป็นอาหารที่ย่อยยาก
สารอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ น้ำ น้ำเป็นสิ่งจำเป็นและ สำคัญยิ่งสำหรับร่างกายรองจากออกซิเจน แต่ส่วนใหญ่จะถูกลืม น้ำไม่ให้พลังงานแกร่างกาย ในร่างกายมนุษย์มีน้ำอยู่ประมาณ 70% ของน้ำหนักตัว น้ำเป็นตัวการที่สำคัญมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง ทางเคมีของสารอาหารต่างๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นตัวนำสารอาหารไปยังเซลล์ต่างๆ และทำหน้าที่ ขับถ่ายสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกาย
ฉะนั้น อาหารหลัก 5 หมู่ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น สำหรับมนุษย์ทุกคน แต่มนุษย์ในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และในวัยสูงอายุ จะมีความต้องการอาหารในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ตามสภาพ ความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ที่มีสภาพร่างกายสึกหรอ เสื่อมโทรมไปตามวัย
เมื่อมีอายุมากขึ้น ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น การรับรส กลิ่น เสียง และสัมผัสจะด้อยลง เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว เมื่อการรับรู้รสและกลิ่นด้อยลง ทำให้ความอยากอาหาร ของผู้สูงอายุลดลงด้วย
ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องฟัน ซึ่งฟันอาจจะทำหน้าที่เคี้ยวอาหาร ไม่ละเอียด ทำให้การย่อยอาหารทำได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ผู้สูงอายุ ยังมีการลดลงของการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้ รวมทั้งต่อมน้ำลายในปากด้วย ทำให้การเคี้ยว การกลืน การย่อย การดูดซึมเป็นไปได้ไม่ดี เกิดอาหารไม่ย่อย มีแก๊สมากในลำไส้ใหญ่ มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รวมทั้งท้องผูกด้วย ระบบการเผาผลาญก็ลดลง มีส่วนทำให้โอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย
ปัญหาสำหรับผู้สูงอายุในเรื่องอาหารนั้น จึงมีทั้งปัญหา กินไม่ได้และปัญหากินได้น้อย จนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จนกระทั่งเกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอาหารพวกโปรตีน หรืออาหารพวกวิตามิน และเกลือแร่บางตัว ทำให้ซีด อ่อนเพลีย กระดูกเปราะ เส้นเลือดฝอยแตกง่าย และผู้สูงอายุบางคน ได้รับอาหารมากเกินไป หรือบริโภคอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ก็อาจทำให้มีปัญหาจากโรคเบาหวาน ไขมันในหลอดเลือดสูง ทำให้เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงได้
| |
|
วิธีเตรียมอาหารให้แก่ผู้สูงอายุ
ควรที่จะมีวิธีเตรียมอาหารให้แก่ผู้สูงอายุ ต่างไปจากวัยอื่นได้ดังนี้
1. ควรแบ่งมื้ออาหารของผู้สูงอายุให้มากกว่า 3 มื้อ โดยแบ่งออกเป็น มื้อเช้า กลางวัน เย็น อาหารว่าง มื้อสาย บ่าย และ อาหารว่างก่อนนอน เพื่อช่วยแก้ปัญหาแน่นท้อง หลังกินอาหาร
2. ควรบริโภคอาหารให้ครบ อาหารหลัก 5 หมู่ของไทย ผู้สูงอายุควรดื่มนมทุกวัน ถ้ามีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรืออ้วน ควรดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนย วันละ 1-2 แก้ว (เช้าและก่อนนอน) นมสดมีแคลเซียมสูง ซึ่งจะช่วยทำให้ ไม่เป็นโรคกระดูกผุ ในผู้สูงอายุบางคนดื่มนมแล้ว อาจทำให้ท้องเสียได้ เพราะขาดน้ำย่อยนมในกรณีนี้ควรดื่มนมถั่วเหลือง
การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ อาจจะใช้วิธีบดหรือสับ ให้ละเอียดหรือเคี่ยวให้เปื่อย ถ้าผู้สูงอายุมีน้ำหนักเกิน และมีปัญหา เรื่องของไขมันในหลอดเลือดสูง ควรกินอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น เนื้อสันใน หมูไม่ติดมัน เนื้อไก่ไม่มีหนัง ปลาทุกชนิด (ยกเว้นปลาสวาย) โดยเฉพาะอาหารประเภทปลา เพราะมีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ปัจจุบันมีการตื่นตัวในการบริโภคเนื้อปลากันมาก เนื่องจาก มีราคาไม่แพงมาก หาได้ง่ายมีให้เลือกหลากหลาย และเนื้อปลา ยังมีโปรตีนที่มีคุณภาพดี และมีปริมาณไขมันโดยเฉลี่ย น้อยกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเป็นกรดไขมัน ที่มีอยู่ในกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งมีอยู่ในอาหารประเภทปลาทะเลเท่านั้น และปลายังมีธาตุไอโอดีน จึงให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าโปรตีน จากเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ย่อยง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุจะมีปัญหาในเรื่องของการขับถ่าย ท้องจะผูก ควรจะกินผักให้มากทุกมื้อ เพราะในผักใบเขียว และผักอื่นๆ จะให้อาหารจำพวกวิตามินและเกลือแร่ ผักยังมีกาก และใยอาหาร การกินใยอาหารให้มากเพียงพอ ในวันหนึ่งๆ (ประมาณวันละ 40-60 กรัม) จะช่วยลดระดับน้ำตาลในคนอ้วน และช่วยในการขับถ่ายได้ดี แต่อาจจะมีอุปสรรค เพราะฟันอาจจะไม่ดี ฉะนั้นการหุงต้มผักอาจจะต้องใช้เวลานานมากขึ้น เพราะจะทำให้ผักเปื่อย นุ่ม หรืออาจจะใช้วิธีหั่นละเอียด หรือบดเป็นซุป ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุ ได้กินผักทุกวัน และป้องกันการขาดวิตามิน และเกลือแร่ในร่างกายได้ เช่น ใบตำลึง ผักโขม ผักบุ้ง ฟักทอง ฟักเขียว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ฯลฯ
ส่วนผลไม้ผู้สูงอายุควรกินผลไม้ทุกวัน และทุกมื้อและพยายาม กินให้หลากหลายชนิดไม่ซ้ำกัน จะทำให้ได้รับสารอาหาร ชนิดใดชนิดหนึ่ง ผลไม้มีมากมายเช่นเดียวกับผักผลไม้ ที่มีเส้นใยอ่อนนุ่ม ผู้สูงอายุกินสด ๆ ได้ เช่น แตงโม มะละกอ องุ่น ส้ม ชมพู่ พุทรา ฯลฯ แต่ถ้าเส้นใยหยาบ เช่น สับปะรด อาจจะปั่นเป็นน้ำสับปะรดได้ผลไม้เชื่อมต่างๆ รับประทานได้ แต่ควรให้ในปริมาณน้อย ๆ แต่ถ้าในกรณีที่มีปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน โรคอ้วน ควรงดผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด ลำไว น้ำอัดลม น้ำผลไม้กระป๋อง ส่วนใหญ่จะผสมน้ำตาล ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยง ดื่มน้ำผลไม้สดจะดีกว่า
รสชาติสีสันของอาหาร เป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุ เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้นได้ และวิธีดัดแปลงอาหารต่างๆ เพื่อให้ดูแตกต่างกันออกไปและมีสีที่ชวนกิน ผู้สูงอายุบางคน ชอบรสเผ็ด หรือรสหวาน บางครั้งควรอนุโลมบ้าง แต่ผู้สูงอายุ ควรกินอาหารรสไม่เค็มจัด เพราะบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรืออาจจะยังไม่มี แต่ควรป้องกันไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น
ผู้สูงอายุควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ต่อวัน เพื่อจะได้รับสารอาหารที่กล่าวมาแล้วให้ครบทั้งหมด เพื่อการมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีความสุขในชีวิต ซึ่งมีคำขวัญ ที่พูดกันเสมอว่า กินอาหารครบ 5 หมู่ "นำไปสู่สุขภาพที่ดี"
ข้อมูลจาก ชุลีพร สวาสดิ์ญาติ โรงพยาบาลพญาไท
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น