หลักสูตรการพูดของ เดล คาร์เนกี้ เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง มีการตีพิมพ์ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก และยังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีกถึง 10 กว่าภาษา ปรัชญาของเดล ที่ว่า “การแสดงสุนทรพจน์นั้น ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำพูด 2-3 คำ แก่ผู้ฟังคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการแสดงออกถึงบุคลิกภาพแห่งบุคคลอีกด้วย” เห็นได้ชัดว่าหลักในการพูดของ เดล คาร์เนกี้ เน้นที่การแสดงออกถึงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ คือ ผู้พูดต้องมีความมั่นใจ มีความพร้อมต่อทุกสถานการณ์ในการพูด ไม่ว่าจะเป็นการพูดในกลุ่มเล็ก ๆ หรือการพูดต่อสาธารณชนอีกด้วย
ไม่มีมนุษย์คนใด ถือกำเนิดมาเป็นนักพูดในที่สาธารณชน ดังนั้นเมื่อคนส่วนใหญ่ถูกเรียกให้ยืนขึ้นพูด จึงมักเกิดความสะทกสะท้าน ไม่สามารถตั้งสมาธิ และลืมเรื่องที่ตั้งใจจะพูดไปเสียหมด ความต้องการพื้นฐานของคนส่วนใหญ่จึงต้องการจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีสติมั่นไม่หวั่นไหว มีความสามารถในการครุ่นคิด ประมวลความคิดเข้าด้วยกัน และปรารถนาที่จะมีความสามารถในการพูดให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ประสบความสำเร็จในการพูด
เมื่อได้ศึกษาหลักการพูดของ เดลแล้วทำให้รู้สึกประทับใจ ในการที่เดลพยายามช่วยให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อมั่น มั่นใจในการที่จะลุกขึ้นพูด เดลได้แทรกคำคม คำขวัญ ประสบการณ์ในการสอนวิชาการพูดของเขามาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า อาการประหม่า ตื่นเต้น เวลาที่ต้องยืนขึ้นพูดต่อหน้าผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนทั่วไป แต่เราสามารถฝึกฝนให้เกิดความมั่นใจ มีบุคลิกภาพที่ดี จนประสบความสำเร็จในการพูดได้
เดล คาร์เนกี้ ได้แนะนำหลัก ๔ ประการเพื่อให้เกิดประโยชน์ และนำไปสู่การบรรลุผลแห่งการเป็นนักพูดที่ดีอย่างรวดเร็ว คือ
๑. เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น จะช่วยให้เรามีความเข้าใจว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรทำทำแล้วจะได้รับความสำเร็จ และสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งในการพูดต่อหน้าสาธารณชน เราสามารถเลือกนำเทคนิค หลักการดีๆ ของผู้อื่นมาปรับใช้ในการพูดของเราได้
๒. ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ตรงหน้า สิ่งหนึ่งที่เราจะปฏิบัติ เพื่อเป็นการค้ำจุนหนุนส่งไปสู่ความสำเร็จในการเป็นนักพูดชั้นเยี่ยมได้นั้น ก็เพราะตัวเราเองต้องการทำในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และต้องการทำก็เพราะเรามองเห็นตัวเอง ในฐานะนักพูดผู้ประสบความสำเร็จ เรามีการวางแผนอนาคตไว้ให้แก่ตนเอง และบากบั่นฟันฝ่าเพื่อให้แผนการนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมา ดังที่ เดลได้ยกคำกล่าวที่ว่า “จงพยายามอย่างดีที่สุด เพื่อพัฒนาความสามารถที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจคุณได้อย่างกระจ่างชัด จงเรียนรู้ที่จะตีแผ่แนวความคิดของตัวเองให้ผู้อื่นเห็นอย่างแจ้งชัด ไม่ว่าจะต่อใครคนหนึ่ง ต่อกลุ่มคน หรือต่อที่สาธารณชน แล้วคุณจะพบว่า ขณะที่คุณพยายามทำให้ดีขึ้นนั้น จริงๆ แล้วคุณกำลังสร้างความประทับใจ และอิทธิพลต่อผู้คน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” เดลแนะนำให้เราวาดภาพตัวเองว่าประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่เราเองหวาดหวั่นพรั่นกลัว และตั้งมั่นอยู่กับประโยชน์ที่จะได้ จากการพูดให้เป็นที่ยอมรับต่อกลุ่มคนนั้น ถ้าหากว่าเราใส่ใจต่อผลที่จะตามมาอย่างเพียงพอ เราก็จะประสบผลสำเร็จในการพูดอย่างแน่นอน
๓. กำหนดจิตใจไว้ที่ความสำเร็จ เดลได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ ก็คือ การให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งที่เราคิดคำนึง ถ้าหากเราทราบถึงสิ่งที่ผู้อื่นคิด เราก็จะทราบได้ว่าผู้นั้นเป็นคนอย่างไร เพราะว่าความคิดของแต่ละคนจะทำให้ตัวเขาเป็นไปตามความคิดนั้น และโดยการเปลี่ยนแปลงความคิด เราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้” ในการพูดเราจึงต้องหมายตาไว้ที่จุดมุ่งหมายแห่งการเพิ่มพูนความเชื่อมั่น และการสื่อความหมายกับผู้ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จนั้น เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการฝึกฝนให้กลายเป็นนักพูดที่น่าเชื่อถือ “ขณะที่คุณต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะต่อความหวาดหวั่นพรั่นกลัวที่มีต่อผู้ฟัง จงโยนความคิดในทางลบ เข้ากองไฟให้หมดสิ้น และปิดประตูไม่ให้ตัวเองถอยหลังไปสู่ความลังเลได้อีกเป็นอันขาด”
๔. ฝึกพูดในทุกโอกาส การจะพูดในที่สาธารณชนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการฝึกพูด เพราะไม่มีใครที่สามารถหัดว่ายน้ำ ได้โดยที่ไม่ต้องลงน้ำ การพูดก็เช่นกัน เราจะไม่สามารถทราบได้ว่าตัวเองก้าวหน้าไปขนาดไหน หากเราไม่มีการฝึกฝน ฝึกพูดในที่สาธารณชน โอกาสในการที่จะฝึกพูดนั้นมีอยู่ทั่วไป เช่น การเข้าร่วมสมาคม หรืออาสาสมัครต่างๆ จงยืนขึ้น และแสดงตัวเองต่อที่ประชุมแม้จะเพียงแค่ไม่กี่วินาทีก็ตาม จงอย่าเลือกที่นั่งหลังสุด จงพูด..พูด และพูดทุกครั้งที่มีโอกาสเมื่อเราเรียนรู้หลักที่จะสามารถนำเราไปสู่เส้นทางการเป็นนักพูดที่ดีได้แล้ว วิธีการที่เราจะพูด ก็เป็นเรื่องสำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เดลได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าประทับใจ โดยอธิบายไว้ว่า ในการที่เราติดต่อกับผู้อื่นบนผืนโลกนี้ เราถูกวิจารณ์ ประเมิน และถูกจัดแบ่งจำพวก โดยวิธีการติดต่อกับผู้อื่น ๔ วิธี นั่นคือ สิ่งที่เรากระทำ รูปลักษณ์ภายนอกของเรา สิ่งที่เราพูด และ วิธีที่เราพูดมันออกไป
เดลได้ให้ข้อแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถตีแผ่คำพูดออกมาอย่างน่าเชื่อถือ และมีชีวิตจิตใจ คือ
เราต้องทำลายกำแพงแห่งความประหม่า ความประหม่าจะทำให้เราพูดกระด้าง ขาดชีวิตชีวา ดังนั้นเราจึงต้องทำลายความประหม่าให้พินาศ แล้วสอดใส่อารมณ์ลงไปในการพูด พูดให้เป็นธรรมชาติ พูดอย่างมีชีวิตจิตใจ
อย่าพยายามเลียนแบบผู้อื่น เรามักประทับใจกับนักพูด ผู้สามารถสอดใส่การแสดงลงไปในการพูดของเขา นักพูดที่มีความเป็นตัวของตัวเอง การพูดนั้นมิใช่เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยบางสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่ง อยู่นอกเหนือถ้อยคำนั้น ก็คือ รสชาติของคำพูดที่กล่าวออกมา ดังนั้นอย่าพยายามให้ความประทับใจในนักพูดคนอื่น มาหล่อหลอมเราจนเป็นแม่พิมพ์อันเดียวกัน อย่ายอมให้จุดเด่นของเราสูญสลายไป เพราะนั่นมันเป็นบุคลิกภาพของเราเองโดยเฉพาะ
สนทนากับผู้ฟัง การสื่อความเข้าใจ เป็นความจำเป็นอันดับแรกของการพูดที่ดี ผู้ฟังต้องบังเกิดความรู้สึกว่า มีสัญญาณข่าวสารอย่างหนึ่ง ที่ส่งจากจิตใจของผู้พูด สู่จิตใจของผู้ฟัง นักพูดที่ดีควรพูดให้เหมือนกับว่า พูดกับผู้ฟังตามปกติ จนผู้ฟังมิได้สังเกตท่วงทำนองการพูดของเรา หากความรู้สึกนึกคิดกำลังเพ่งอยู่แต่เรื่องที่เรานำมาพูดเท่านั้น
ทุ่มเทหัวใจให้กับการพูด ความสุจริตใจ ความกระตือรือร้น และความรู้สึกแรงกล้าในระดับสูงจะสามารถช่วยเราได้ ตัวตนอันแท้จริงของเราจะปรากฎออกมาอย่างเด่นชัด เมื่อเราอยู่ภายใต้อำนาจความรู้สึกของตัวเอง เราจะมีกิริยา ท่าทาง เป็นกันเองโดยธรรมชาติ
การฝึกฝนจะช่วยให้น้ำเสียงมีพลัง การฝึกฝนตัวเองให้พูดอย่างมีจังหวะจะโคน และระดับเสียงสูงต่ำ หนักเบา อาจฝึกพูดให้เพื่อนๆ ฟัง แล้วให้ช่วยวิจารณ์ หรืออาจหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพูดมาช่วยแนะนำ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อเรา อีกทั้งยังจะช่วยให้รอดพ้นจากอันตรายร้ายแรงจากความล้มเหลวเมื่อออกไปยืนอยู่เบื้องหน้าผู้ฟังอีกด้วย
จากการที่ได้ศึกษาหลักการต่าง ๆ ของ เดล คาร์เนกี้ แล้วรู้สึกประทับใจมาก เพราะมีความรู้สึกว่า การที่จะฝึกฝน พัฒนาตนจนกลายเป็นนักพูดที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ เดลนอกจากจะเป็นนักพูดที่มีความสามารถ มีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ของตนมาถ่ายทอด แนะนำ สั่งสอนผู้อื่น ให้กลายเป็นนักพูดที่ประสบความสำเร็จกันอย่างมากมาย หลายรุ่นต่อหลายรุ่นด้วยกัน เดลเป็นนักเก็บข้อมูลตัวยง เห็นได้จากในหลักการสอนต่าง ๆ จะมีการแทรกข้อคิด คำคม ที่เดลนำมาจากที่มีผู้กล่าวไว้ มีการยกตัวอย่างเพื่อเน้นน้ำหนักหาให้น่าเชื่อถือ และมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เดลมีความจริงใจในการพยายามที่จะถ่ายทอดหลักการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และสิ่งสำคัญที่ เดลเน้นเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ การสร้างความมั่นใจ มุ่งมั่น มีความตั้งใจ และมีความพยายาม ในการฝึกฝนตนอยู่เสมอดังนั้น เดล คาร์เนกี้ จึงเป็นนักพูดที่น่าสนใจ เป็นตัวอย่างที่ดีต่อการที่จะศึกษาหลักการต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาการพูดของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น