เงินแม่หม้าย
“เงินแม่หม้าย” หญิงไทยที่สมรสกับชายชาวสวิส มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนจากทางการสวิส ซึ่งเรียกว่า ”เงินแม่หม้าย” (Witwenrente) ถ้าสมรสใหม่แล้ว หมดสิทธิรับ “เงินแม่หม้าย”
เบิร์น, สวิตเซอร์แลนด์ - หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 15,000 -20,000 คน หรือมากกว่า ส่วนใหญ่แล้ว กว่า 80% เป็นหญิงที่สมรสกับชายชาวสวิส มีบ้างที่สมรสกับชายชาวอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน ลิคเตนสไตน์ และออสเตรียที่มีถิ่นพำนักถาวรในสวิตเซอร์แลนด์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นบุตรที่ติดตามมารดามาพำนักอาศัยอยู่ด้วย รวมทั้งบุตรบุญธรรมที่ครอบครัวชาวสวิสขอรับมาเลี้ยงดู ซึ่งเกือบทั้งหมดบิดา-มารดาบุญธรรมจะให้ความรัก และให้การศึกษาอบรมเลี้ยงดูประดุจบุตรของตน นอกจากนั้นยังมีชายไทยอีกจำนวนหนึ่งที่สมรสกับหญิงชาวสวิส
เมื่อกล่าวถึงกลุ่มหรือชุมชนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบันแล้ว อาจสามารถกล่าวได้ว่าสวิตเซอร์แลนด์มีกลุ่มหรือชุมชนไทยที่เข้มแข็งในต่างแดนประเทศหนึ่ง บทบาทและความสำเร็จของกลุ่มหรือชุมชนไทยดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายหลักด้านการต่างประเทศของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับชุมชนไทยในต่างแดน ในปัจจุบันมีชาวไทยพำนักอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์เป็นจำนวนมาก เช่น ที่กรุงเบิร์น บาเซิล ซูริค เจนีวา โลซานน์ ลูเซิร์น ลูกาโน โซโลทูร์น และคัวร์ ฯลฯ เป็นต้น หญิงไทยที่สมรสกับชายชาวสวิสส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้าน โดยบางคนอาจทำงานพิเศษเสริมรายได้
คนไทย ส่วนใหญ่จะมีอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่การทำงานในบริษัทการบิน บริษัทผลิตภัณฑ์อาหาร โรงงานผลิตหรือร้านจำหน่ายนาฬิกา ร้านขายของที่ระลึก โรงพยาบาล โรงงานผลิตช็อกโกแลต บริษัทไปรษณีย์ การดูแลคนชรา พนักงานขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งการทำงานในร้านอาหาร ตลอดจนการเปิดร้านอาหารไทยซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตามยังมีหญิงไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกหลอกหรือถูกบังคับให้ทำงานบริการทางเพศ ดังนั้น ก่อนที่จะเดินทางมาทำงานที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หญิงไทยควรได้ศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องของไทยและสวิสให้ถ่องแท้เสียก่อน
ข้อควรรู้/ควรระวังเกี่ยวกับการสมรสกับคนสวิส
สิทธิเมื่อมีการสมรส
1.คนต่างชาติ รวมถึงคนไทย เมื่อได้สมรสกับคนสวิสแล้ว ยังไม่สามารถขอสัญชาติสวิสได้ทันที คนต่างชาติดังกล่าวจะสามารถขอสัญชาติสวิสได้ก็ต่อเมื่อได้สมรสและพำนักอยู่ในประเทศสวิตฯ มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่กฎหมายสวิสได้กำหนดไว้ เช่น ต้องรู้ภาษาที่ต้องใช้ในจังหวัด (กังตอง) ของตน เช่น ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาอิตาเลียน และมีความสามารถในการปรับตัว ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องสละสัญชาติไทยเสียก่อน รวมทั้งต้องผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาที่เกี่ยวข้อง ในด้านการสื่อสาร การอ่าน และการเขียน ความรู้เกี่ยวกับระบบการปกครองของประเทศสวิตฯ และการปรับตัวเพื่อการพำนักอาศัยอยู่ในประเทศสวิต ฯ เป็นต้น
2.กฏหมายสวิสยอมรับเรื่องการจดทะเบียนเพศเดียวกัน โดยไม่ถือเป็นการจดทะเบียนสมรส (marriage) แต่เป็นการจดทะเบียนในฐานะคู่ครอง (partner)
3.กฎหมายสวิสไม่ได้กำหนดแน่ชัดเป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่จะพึงได้รับภายหลังการหย่า โดยศาลจะสั่งตามสภาพความเป็นจริงซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพฐานะทางเศรษฐกิจของคู่สมรสและสภาพทางสังคม
4.เมื่อหญิงไทยแต่งงานใหม่แล้ว สิทธิจากคู่สมรสเดิมจะหมดไป
5.กรณีที่สามีชาวสวิสเสียชีวิต ภริยาที่ได้สมรสโดยการจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมายสวิส จะมีสิทธิได้รับมรดกตามเงื่อนไขที่กฎหมายสวิสกำหนด ตามพินัยกรรม (Testament) และสัญญามรดก (Erbschaftsvertrag) ทั้งนี้หญิงไทยดังกล่าวสามารถตั้งทนายเป็นตัวแทนทางกฎหมายได้
6.เมื่อคู่สมรสถึงแก่กรรม หญิงไทยที่สมรสกับชายชาวสวิสดังกล่าว จะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนจากทางการสวิส ซึ่งเรียกว่า ”เงินแม่หม้าย” (Witwenrente) ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.หญิงดังกล่าวจะต้องมีอายุ 45 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และได้จดทะเบียนสมรสมาครบ 5 ปีแล้ว หรือ
2.กรณีที่หญิงดังกล่าวมีอายุน้อยกว่า 45 ปีบริบูรณ์ หรือได้จดทะเบียนสมรสมาไม่ครบ 5 ปี แต่เป็นผู้ที่มีบุตร ซึ่งอาจเป็นบุตรที่เกิดจากการสมรสครั้งก่อน (ไม่ว่าจากสามีชาวไทย หรือสวิส) หรือจากคู่สมรสชาวสวิสที่ถึงแก่กรรม ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับ ”เงินแม่หม้าย“ ได้เช่นกัน โดยจะต้องแสดงหลักฐานต่อทางการสวิสคือ สูติบัตร และใบรับรองว่าบุตรดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่
เมื่อจดทะเบียนสมรสใหม่แล้ว หญิงนั้นจะหมดสิทธิที่จะได้รับ “เงินแม่หม้าย”
กลุ่มหญิงไทยเพื่อหญิงไทยในสวิตเซอร์แลนด์ มีบทบาทสำคัญในการอบรมครูอาสาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และทั่วยุโรป เป็นกลุ่มหลักในการจัดตั้งสมาพันธ์ครูสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในยุโรป ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่เมืองลูกาโน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยมีครูอาสาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย จากประเทศในยุโรปรวม 11 ประเทศ จำนวน 101 คน มาร่วมรับการอบรมที่กรุงเบิร์น โดยมีวิทยากรที่มีประสบการณ์จากประเทศไทย มาให้ความคิดเห็นและคำแนะนำ
กลุ่มหญิงไทยเพื่อหญิงไทยในสวิตเซอร์แลนด์ มีบทบาทสำคัญในการอบรมครูอาสาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และทั่วยุโรป เป็นกลุ่มหลักในการจัดตั้งสมาพันธ์ครูสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในยุโรป ซึ่งจัดตั้งขึ้นที่เมืองลูกาโน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยมีครูอาสาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย จากประเทศในยุโรปรวม 11 ประเทศ จำนวน 101 คน มาร่วมรับการอบรมที่กรุงเบิร์น โดยมีวิทยากรที่มีประสบการณ์จากประเทศไทย มาให้ความคิดเห็นและคำแนะนำ
ในแต่ละปี กลุ่มหญิงไทย ฯ จะนำจิตแพทย์จากประไทย และที่ต่างๆ มาช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่คนไทย และหญิงไทยเพื่อช่วยเหลือคนไทยให้มีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข รู้จักสิทธิและเสรีภาพของตน เป็นการเสริมสร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็งและเกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน เพื่อให้คนไทยเป็นที่ยอมรับของชนชาวสวิส และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ถือได้ว่าเป็นสมาคมไทยที่มีความเข้มแข็งและมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลทุกข์สุขของคนไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อีกกลุ่มคือ ชมรมศิลปวัฒนธรรมไทย จัดตั้งมา 25 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) มีนางอำพัน โดมัยเซ่น เป็นประธาน มีสมาชิกประมาณ 50 คน แต่เมื่อมีการจัดกิจกรรมจะมีคนไทยเข้าร่วมช่วยเหลือในการจัดกิจกรรมกว่า 100 คน ชมรมฯ นี้ ทำการเผยแพร่วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น อิตาลี ออสเตรีย เยอรมัน และฝรั่งเศส เป็นต้น
ในแต่ละปี ชมรมศิลปวัฒนธรรมไทยจะนำนาฏศิลป์ไปแสดงในงานเทศกาลไทยที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และยังได้รับเชิญจากทางการรัฐซูริคให้จัดขบวนพาเหรดเด็กไทย อายุระหว่าง 5 - 12 ปี โดยแต่งกายประจำชาติภาคต่างๆ ประมาณ เกือบ 100 คน เข้าร่วมงานเทศกาลสิ้นสุดฤดูหนาวที่นครซูริค โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสถานเอกอัครราชทูต ฯ นอกจากนี้ ชมรมศิลปวัฒนธรรมไทยยังเข้าร่วมงาน Zurich Festival และงานอื่นๆ ที่มีผู้เชิญมาให้จัดนักแสดงนาฏศิลป์ไทยเข้าร่วม ถือได้ว่าชมรมศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นชมรมที่มีบทบาทในการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และยุโรปที่มีบทบาทที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก
สรุป คนไทยโดยทั่วไป ยังมีความระลึกถึงถิ่นเดิม คือประเทศไทย ยังนึกถึงบุพการี บิดา มารดาญาติ พี่น้อง ที่อยู่ในประเทศไทย ชุมชนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ จึงถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประเทศไทย ถึงแม้ว่า บางคนจะมีรายได้ไม่มาก แต่ก็ยังเจียดจ่ายรายได้ไปยังครอบครัวของตนในประเทศไทย และถือได้ว่า คนไทยชุมชนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ เป็นชุมชนไทยที่เข้มแข็งในต่างแดน
รายงานจากสวิส
โดยนางวรรณา สุดจิตร
เลขานุการเอก (กงสุล)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
Email : embassy.bern@gmail.com
โดยนางวรรณา สุดจิตร
เลขานุการเอก (กงสุล)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
Email : embassy.bern@gmail.com
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น