10 เมษายน 2555

อาการปัสสาวะราด ใน ผู้สูงอายุ

อาการปัสสาวะราด ใน ผู้สูงอายุ



ผู้สูงอายุ มีลักษณะทางคลินิก ที่แตกต่างจากผู้ที่มีอายุน้อยกว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลง ทางสรีรวิทยาเนื่องความชรา อาการและอาการแสดงที่ไม่จำเพาะเจาะจง การมีพยาธิสภาพหลายระบบในเวลาเดียวกัน การบริหารยาหลายชนิด สภาวะสุขภาพที่แตกต่างกันแม้จะมีอายุใกล้เคียงกัน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่มีผลต่อสุขภาพได้ อาการปัสสาวะราด เป็นหนึ่งในอาการและอาการแสดง ที่ไม่จำเพาะเจาะจง ทั้งนี้เพราะอาจเกิดจากพยาธิสภาพได้หลายสาเหตุ ซึ่งอาจแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทางสรีรวิทยาเนื่องความชราเพียงอย่างเดียว การที่ผู้สูงอายุเอง ญาติผู้ดูแล หรือแม้แต่แพทย์ที่พบกับปัญหานี้ มีทัศนคติต่ออาการปัสสาวะราดว่าแก้ไขไม่ได้ เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติของผู้สูงอายุ ที่ผู้ประสบปัญหานี้จะต้องทนอยู่กับอาการดังกล่าวในชั่วชีวิตที่เหลือ จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายในโอกาส ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุนั้นดีขึ้นได้

แม้ว่าความชุกของอาการปัสสาวะราดในผู้สูงอายุในชุมชน จะประมาณร้อยละ 12-15 แต่ความชุกที่แท้จริงน่าจะมากกว่านี้ ทั้งนี้เพราะอาการปัสสาวะราดเป็น สิ่งที่น่าละอายที่ผู้สูงอายุมักไม่ค่อยอยากเปิดเผย โดยเฉพาะการศึกษาในชุมชนที่ใช้แบบสัมภาษณ์ และถ้าแบบสัมภาษณ์นั้นสำรวจเรื่องอื่นๆ ด้วย ผู้สูงอายุอาจเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว และคงช่วยอะไรไม่ได้จึงไม่มีความสำคัญที่จะต้องตอบ ปรากฏการณ์นี้ยังพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป ที่ผู้สูงอายุมักไม่รายงานอาการนี้ให้แพทย์ทราบ นอกจากแพทย์จะถามนำเสียเอง

      ดังนั้น เมื่อไรที่ผู้สูงอายุรายงานให้แพทย์ทราบ มักจะมีอาการมานานจนทนไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม มักมีความชุกของอาการปัสสาวะราดมากกว่าผู้สูงอายุปรกติ การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลจากผู้สูงอายุที่มีสมองเสื่อม จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ง่าย โดยทั่วไปความชุกของอาการปัสสาวะราด จะพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุหญิงประสบปัญหานี้มากกว่าชายถึงสองเท่า ความชุกนี้ยังเพิ่มขึ้นเมื่อผู้สูงอายุ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยพบเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในบ้านพักคนชรา ร้อยละ 70 ในหอผู้ป่วยผู้สูงอายุ และร้อยละ 80 ในหอผู้ป่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิต

      ความสำคัญของแนวโน้มนี้ บอกให้ทราบถึงปัจจัยเนื่องจากสุขภาพทั่วไป ทั้งด้านกายและจิตที่มีผลต่อความสามารถ ในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน อันจะนำไปสู่อาการปัสสาวะราดในที่สุด


ผลกระทบทางเวชกรรมของอาการปัสสาวะราดที่สำคัญในผู้สูงอายุได้แก่


ด้านกายภาพ
ผิวหนังเปื่อยและแตกเป็นแผลกดทับได้ง่าย
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำบ่อยๆ
หกล้ม โดยเฉพาะปัสสาวะราดเวลากลางคืน
การสูญเสียความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน
ด้านจิตใจ
ภาวะซึมเศร้า
การแยกตัวจากสังคม
ด้านสังคม
เป็นภาระต่อผู้ดูแลและครอบครัว
ไม่สามารถดำเนินชีวิตโดยลำพัง และถ้าขาดผู้ดูแล จำเป็นต้องอาศัยการดูแลในโรงพยาบาล หรือบ้านพักคนชรา
ด้านเศรษฐกิจ
ค่าจ้างผู้ดูแลหรือญาติ ไม่สามารถประกอบอาชีพ เพราะต้องคอยทำความสะอาดตลอดทั้งวัน
ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์เช่น สายสวนปัสสาวะ แผ่นรองกันเปื้อน
ค่ารักษาต่างๆ กรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน


แม้ว่าสาเหตุของอาการปัสสาวะราด จะมีมากมายและแตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย แต่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งโดยพฤติกรรมบำบัด การใช้ยา ตลอดจนการผ่าตัด


      อย่างไรก็ตาม การรักษาจะไม่ประสบผลสำเร็จได้ ถ้าปราศจากการประเมินผู้ป่วยโดยละเอียด อันได้แก่ การประเมินสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน และสถานภาพทางสังคมและครอบครัว โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคดี มักเป็นผู้ที่ยังมีความสามารถทางสติปัญญาดี และการเคลื่อนไหวช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถแก้ไขสาเหตุได้ทั้งหมด การรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกสบายในชีวิตดีกว่าเดิม ก็สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้
รศ. นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย
แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th - คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น