ความเชื่อที่ว่า “เราต้องทำได้” คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
ถ้าเราขับรถเข้าป่าไปและไปเจอต้นไม้ล้มขวางถนนอยู่ ถ้าเราคิดว่าคงไปต่อไม่ได้แน่ๆ เราอาจจะตัดสินใจถอยรถกลับบ้านไปเลย แต่...ถ้าใจเราคิดว่าเราต้องไปให้ได้ สมองของเราก็จะทำงานต่อโดยพยายามหาหนทางที่จะช่วยให้เราสามารถผ่านต้นไม้ที่ล้มขวางไปได้ เช่น
- ลองหาเครื่องมือที่พอมีอยู่ในรถมาจัดการกับกิ่งไม้เล็กๆก่อนเผื่อว่าอาจจะพอมีช่องให้รถเราผ่านไปได้
- นั่งรอจนกว่ามีคนมาช่วยจัดการนำเอาต้นไม้นี้ออกไป
- รอผู้ใช้รถคันอื่นมาสมทบและค่อยช่วยกันยกต้นไม้ออกไป เพราะเส้นทางนี้คงไม่มีแค่เพียงเราเท่านั้นที่ต้องผ่าน
- เดินไปขอความช่วยเหลือหรือยืมเครื่องมือจากชาวบ้านแถวนั้น
- ลองเดินลงไปสำรวจดูว่าทางเบี่ยงข้างๆถนนที่รถเราน่าจะพอผ่านไปได้บ้างหรือไม่
- จะโทรไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่
- ดูแผนที่เพื่อดูว่ามีเส้นทางอื่นอีกหรือไม่ที่สามารถไปถึงจุดหมายที่เราต้องการจะไปได้ เช่น ทางลัดที่เป็นถนนเส้นเล็กๆ หรือเส้นทางอื่นที่อาจจะมีระยะทางไกลกว่า
การดำเนินชีวิตของคนเรา คงไม่แตกต่างอะไรจากตัวอย่างนี้ เพราะในทุกวันเรามักจะประสบพบเจอกับปัญหาอุปสรรคมากมาย มีทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก มีทั้งเรื่องที่เจอบ่อยและไม่บ่อย และหลายครั้งที่เรายอมแพ้ปัญหาเพราะใจเราไม่สู้ พอใจไม่สู้คิดว่าทำไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ สมองของเราก็จะปิดประตูไม่คิดอะไรอีกต่อไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ใจเราบอกว่าต้องเป็นไปได้ น่าจะพอมีหนทางแก้ไขได้ สมองของเราก็จะรับคำสั่งไปดำเนินการคิดหาหนทางต่อจนกว่าจะได้คำตอบหรือจนกว่าจะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้จริงๆเหมือนที่ใจเราคิดตั้งแต่แรก
คนหลายคนที่ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เก่ง เขาไม่มีโอกาส แต่...เขามักจะทำลายโอกาสในชีวิตด้วยการสะสมสารพัดข้ออ้างไว้มากเกินไป เช่น
- อยากทำธุรกิจส่วนตัว แต่คงจะเป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่มีเงินทุนเพียงพอ
- อยากออกจากงานประจำไปทำอาชีพอิสระ แต่กลัวว่าไม่มั่นคง รายได้ไม่แน่นอน
- อยากจะเรียนต่อ แต่คงจะยากเพราะไม่มีเวลาและบริษัทคงไม่อนุญาตให้เรียน
- อยากจะทำสวนแต่ไม่มีที่ดิน เงินก็ไม่มี คงเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น
ข้ออ้างเหล่านี้ มักจะตัดโอกาสดีๆในชีวิตของเราทิ้งไปเยอะมาก ข้ออ้างหลายอย่างเกิดจากความรู้สึกของตัวเราเองเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากข้อมูลและข้อเท็จจริงอะไรเลย บางข้ออ้างได้รับอิทธิพลมาจากคนอื่น เช่น เพื่อนเราออกจากงานประจำไปทำธุรกิจส่วนตัว ปรากฏว่าทำได้ไม่นานธุรกิจไปไม่รอด กลับมาทำงานเป็นลูกจ้างเหมือนเดิม และหางานยากกว่าเดิมอีก โดยที่เรายังไม่ได้วิเคราะห์ว่าตัวเรากับเพื่อนเราคนนั้นมีอะไรเหมือนหรือต่างกันบ้าง หรือมีอะไรบ้างที่เพื่อนเราผิดพลาดไปแต่เราสามารถนำมาป้องกันแก้ไขได้
เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถลด ละ เลิกการสะสมข้ออ้าง หรือกำจัดข้ออ้างที่มีอยู่ในชีวิตและทำให้ชีวิตก้าวหน้ากว่าที่ควรจะเป็น ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบดูว่าปัจจุบันเรายังมีความฝันหรือเป้าหมายอะไรบ้างที่เรายังไปไม่ถึงหรือยังไม่เป็นจริง
ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบว่าเป้าหมายในชีวิต ณ เวลานี้ มีอะไรบ้าง แต่ละเรื่องเราต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ เช่น เราอยากศึกษาต่อ เราอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ฯลฯ และถ้าเป็นไปได้ ลองคิดย้อนกลับไปหาความฝันบางเรื่องที่เราเคยตัดใจลบทิ้งไปแล้วด้วยว่ามีอะไรบ้าง เพราะบางเรื่องอาจจะยังมีหนทางที่พอเป็นไปได้ พูดง่ายๆคือเรารีบกำจัดความฝันด้วยการฟันหน่อของความฝันทิ้งตั้งแต่เพิ่งงอกออกมาจากหัว เช่น เราเคยคิดอยากจะเป็นดารา/นักการเมืองตอนที่เรายังหนุ่มๆหรือเป็นวัยรุ่น เราเคยคิดอยากจะไปทำงานเมืองนอก ฯลฯ แต่ตอนนี้เราเลิกคิดไปหมดแล้ว
- รวบรวมข้ออ้างที่ทำให้ความฝันของเรายังไม่เป็นจริง
ขอให้วิเคราะห์ดูว่าความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตที่เราเคยกำจัดทิ้งไปแล้วหรือยังค้างคาอยู่ในใจในปัจจุบัน แต่ละข้อนั้นเรามีข้ออ้างอะไร เช่น เราเป็นดาราไม่ได้แน่ๆเพราะตอนนี้แก่แล้ว หรือเราคงจะร่ำรวยไม่ได้หรอกเพราะเราทำงานกินเงินเดือน เราคงจะไม่ได้เรียนต่อเมืองนอกแล้วแน่ๆ เพราะมีครอบครัวแล้ว ลูกก็เล็กอยู่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะทำสรุปข้ออ้างกับเป้าหมายในชีวิตออกมาเป็นตารางเพื่อดูว่าข้ออ้างอะไรบ้างที่ขัดขวางเป้าหมายในชีวิต เพราะข้ออ้างบางเรื่องอาจจะขัดขวางเป้าหมายในชีวิตมากกว่าหนึ่งเป้าหมายก็ได้ เช่น เราไม่มีเงินอาจจะขัดขวางทั้งเป้าหมายในการศึกษาต่อ เป้าหมายในการทำธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ
- กำจัดข้ออ้าง
จริงๆแล้วข้ออ้างคือตัวถ่วงในชีวิตของคนเราที่สำคัญมาก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้กำจัดข้ออ้างในชีวิตให้หมดไปหรือเหลือน้อยที่สุด โดยวิธีการในการกำจัดข้ออ้างที่ดีที่สุดคือ - ให้ตอบคำถามว่า “มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่”
ให้เราเริ่มต้นจากการนำเอาเป้าหมายแต่ละข้อพร้อมกับข้ออ้างที่เรารวบรวมมาได้ ลองนำมาถามตัวเองว่าโอกาสที่จะทำให้เป้าหมายในชีวิตเรื่องนั้นๆเป็นจริงมีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ “เป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์” ด้วยเหตุด้วยผล เช่น เราเป็นทหารไม่ได้แน่นอนเพราะเราเป็นคนพิการแขนและขา เราอยากจะเป็นนักสำรวจอวกาศขององค์กรนาซ่า แต่คงเป็นไปไมได้หรอกเพราะตอนนี้เราอายุ 50 แล้วและมีความรู้แค่เพียง ป.4 ฯลฯ ขอให้ลบความฝันเหล่านี้ทิ้งไปเลยไม่ต้องเก็บมาหลอกหลอนตัวเองอีกต่อไป เพราะยังไงก็เป็นไปไม่ได้แน่ๆ
- คิดหาทางออกให้คำถามที่ตอบว่า
“น่าจะพอมีโอกาสเป็นไปได้บ้าง”
เป้าหมายชีวิตข้อใดที่เราคิดว่าพอมีหนทางเป็นไปได้บ้างแม้จะมีอยู่เพียงน้อยนิดก็ให้นำมาคิดต่อว่ามีทางเลือกหรือแนวทางอะไรบ้าง เช่น
- โอกาสที่เราจะได้เป็นนักการเมืองระดับชาติ น่าจะพอเป็นไปได้ แม้ว่าเราไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนและไม่มีฐานเสียงอะไรมาก่อน สำหรับแนวทางก็พอมีบ้าง เช่น ลงเลือกตั้งในช่วงที่พรรคฝ่ายค้านประท้วงไม่ลงสมัครเหมือนที่คนบางคนได้คะแนนเพียงไม่กี่พันคะแนนก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้ หรือไปแต่งงานกับลูกนักการเมืองที่เขามีฐานเสียงดีอยู่แล้ว หรือไปทำงานด้านมูลนิธิเพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น หรือไปเป็นที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดกับนักการเมืองที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือไปทำงานเกี่ยวกับอาชีพที่คนรู้จักมาก เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง พิธีกร ฯลฯ แล้วค่อยไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกที่ไม่ต้องสังกัดพรรคและใครก็สมัครได้ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วน
- โอกาสที่เราจะศึกษาต่อเมืองนอก แม้ว่าเราจะมีครอบครัวแล้วก็น่าจะพอเป็นไปได้ เช่น เลือกไปทำงานกับบริษัทต่างชาติที่มีโอกาสย้ายเราและครอบครัว ไปทำงานต่างประเทศก่อนและค่อยหาหนทางในการศึกษาต่อต่อไป หรือสอบชิงทุนการศึกษาต่างประเทศ หรือทำงานกับบริษัทที่มีทุนเรียนต่อต่างประเทศในขณะเดียวกันก็ยังมีเงินเดือนเลี้ยงครอบครัวอยู่ด้วย หรือเก็บเงินและเรียนทางไกลกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตโดยไม่ต้องไปอยู่ประจำ แต่สามารถเรียนต่อได้ ทำงานไปด้วยก็ได้
สรุป ข้ออ้างในชีวิตของเราจะหมดไปด้วยการ ลบเป้าหมายที่ไม่มีทางเป็นไปได้จริงๆออกไปจากชีวิต และให้เปลี่ยน “ข้ออ้าง” ของเป้าหมายชีวิตที่พอมีหนทางเป็นไปได้ ให้เป็น “แนวทาง” ถึงเวลานี้ชีวิตเราก็คงจะไม่มีข้ออ้างหลงเหลืออยู่เลยหรือจะมีก็คงจะมีน้อยมาก หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะลองนำแนวทางนี้ไปใช้ในการกำจัดข้ออ้าง เพื่อกรุยทางสร้างความฝันในชีวิตของท่านให้เป็นจริงได้มากยิ่งขึ้นนะค่ะ
ที่มา : narongwit@peoplevalue.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น