ธาลัสซีเมียกับการตั้งครรภ์
โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
เป็นโรคที่มีความผิดปกติในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง จากการที่เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ โรคนี้เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พ่อและแม่จะเป็นผู้ถ่ายทอดยีนผิดปกตินี้ไปยังลูก พบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ได้ทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร และพบผู้ที่มียีนแฝง (พาหะ) ประมาณร้อยละ 40 ของประชากร
ผู้ที่เป็นพาหะหรือมียีนแฝงธาลัสซีเมียเป็นอย่างไร
ผู้ที่เป็นพาหะหรือผู้ที่มียีนแฝงของธาลัสซีเมียอยู่ในตัว จะเป็นบุคคลที่มีสุขภาพดีเหมือนคนทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปยังลูกได้ตามแบบแผนการถ่ายทอดของยีน
ทำอย่างไรเมื่อพบว่าคุณเป็นพาหะของโรค
เมื่อตรวจเลือดพบยีนแฝงธาลัสซีเมีย ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณแต่งงานไม่ได้ ก่อนแต่งงานชวนคู่ของคุณไปตรวจเลือดหายีนธาลัสซีเมีย ปรึกษา และรับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย แต่ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์ และตรวจเลือดพบยีนธาลัสซีเมีย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอด เพื่อหลีกเลี่ยงการมีลูกเป็นเลือดจางธาลัสซีเมีย และวางแผนในการมีลูกคนต่อไป
เด็กที่เป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย มีอาการอย่างไร
เด็กที่เป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย จะมีอาการ ซีด ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต แคระแกรน หน้าตาอาจเปลี่ยนแปลง จมูกแบน ฟันบนยื่น และท้องป่อง ร่างกายเติบโตช้ากว่าปกติ กระดูกเปราะหักง่าย จะเจ็บป่วยบ่อยๆ ทำให้ขาดเรียนเป็นประจำ ทั้งยังเป็นภาระของครอบครัว เพราะจะต้องเสียเงินค่าดูแลรักษาพยาบาลไปอีกนาน เพราะโรคนี้รักษายาก
โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย แบ่งได้เป็นหลายชนิด
- - ชนิดรุนแรงมาก ทำให้ทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- - ชนิดที่ทำให้ผู้ป่วยซีดมากต้องได้รับเลือดประจำ
- - บางชนิดแทบไม่มีอาการผิดปกติ เพียงซีดเล็กน้อย
**ทราบหรือไม่? ผู้ป่วยโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ห้าม! กินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก
ลูกของคุณมีโอกาสเสี่ยงแค่ไหนต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมีย
กรณีที่ 1 ถ้าคุณ และคู่ของคุณเป็นพาหะ หรือ มียีนแฝง ทั้ง 2 คน ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของคุณมีโอกาสเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียร้อยละ 25 มียีนแฝงร้อยละ 50 ปกติร้อยละ 25
กรณีที่ 2 ถ้าคุณ และคู่ของคุณมียีนแฝง คนใดคนหนึ่ง ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของคุณมีโอกาสมียีนแฝง ร้อยละ 50 ปกติ ร้อยละ 50
กรณีที่ 3 ถ้าคุณ หรือ คู่ของคุณเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียคนใดคนหนึ่ง อีกคนปกติ ในการตั้งครรภ์ทุกครั้ง ลูกของคุณ ทุกคนจะมียีนแฝง หรือ เท่ากับร้อยละ 100
กรณีที่ 4 ถ้าคุณหรือคู่ของคุณเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย คนใดคนหนึ่ง และอีกคนมียีนแฝงในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกคุณมีโอกาสเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย ร้อยละ 50 มียีนแฝงร้อยละ 50
จะทราบอย่างไรว่าคนที่เราแต่งงานด้วยมียีนแฝงหรือไม่
ผู้ที่มียีนแฝงของโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย จะมีร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพดีเหมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งมองภายนอกคุณจะไม่รู้เลยว่า บุคคลนั้นมียีนแฝงหรือไม่ คุณอาจสืบประวัติครอบครัวดูว่ามีใครบ้างที่เป็นโรคนี้ ถ้าพบว่ามีลูกคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ นั่นแสดงว่า พ่อ-แม่จะต้องมียีนแฝงทั้ง 2 คน ถ้าคนที่คุณจะแต่งงานด้วยเป็นลูกของครอบครัวนี้ คนรักของคุณอาจมียีนแฝงได้
ดังนั้นมีทางเดียวที่คุณจะรู้ได้ คือ ชวนคู่รักของคุณไปตรวจเลือด เสียค่าตรวจเพียงเล็กน้อย ถ้าผลเลือดที่ตรวจพบว่าคู่รักของคุณมียีนแฝง คุณยังมีทางเลือกที่จะไม่ให้ลูกเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียได้ (อย่าลืมตรวจเลือดตัวเองด้วย)
ผู้มียีนแฝงจะแต่งงาน มีลูกได้หรือไม่
แม้จะพบว่าคุณเป็นพาหะ ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะแต่งงานไม่ได้ ก่อนวันแต่งงานชวนคู่ของคุณไปตรวจเลือดหายีนธาลัสซีเมีย ปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะมีลูกเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
เพราะผู้ที่มียีนแฝง สามารถถ่ายทอดโรคนี้ไปสู่ลูกได้ ดังนั้นคุณและคู่ของคุณ จึงควรวางแผนก่อนมีลูก แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าควร มีลูกได้หรือไม่
เมื่อเป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
แม้ว่าโรคนี้ยังรักษาให้หายขาดได้ยาก ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ควรตื่นตกใจเพราะบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรง
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติดังนี้
- รับประทานผักสด ไข่ นม หรือ นมถั่วเหลืองมากๆ
- ดื่มน้ำชาหลังอาหาร เพื่อลดการดูดซึมธาตุเหล็ก
- ควรตรวจฟัน ทุก 6 เดือน เนื่องจากฟันผุง่าย
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือ การเล่นรุนแรง
- งดดื่มสุรา หรือ ของมึนเมา
ถ้ามีอาการปวดท้องที่บริเวณชายโครงขวาอย่างรุนแรง มีไข้ และตาขาวมีสีเหลืองมากขึ้น ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางธาลัสซีเมียมีโอกาสหายหรือไม่
ผู้ป่วยโรคนี้ที่ยังอายุน้อย และไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ตับม้ามไม่โตมาก ถ้ามีพี่หรือน้องที่มีเม็ดเลือดขาวที่เข้ากันได้ ก็อาจจะพิจารณาการปลูกถ่ายไขกระดูกทำให้หายจากโรคนี้ได้
ที่มา : ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 1 กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล กุมารแพทย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น