14 มีนาคม 2561

โรคหูดับ คืออะไร



โรคหูดับ คืออะไร



หูดับ
         

            ใครที่มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ความสามารถการได้ยินลดลง แถมยังทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง หรือชอบเปิดเครื่องเล่น MP 3 เสียงดัง ๆ บ่อย ๆ เท่ากับว่า คุณกำลังเสี่ยงกับอาการ หูดับ อยู่ค่ะ แล้วอาการ หูดับ คืออะไร เราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยหรือไม่ วันนี้มีข้อมูลเรื่อง หูดับ มาฝากกัน
โรคหูดับ คืออะไร
          โรคหูดับ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Sudden Hearing Loss (SHL) เป็นภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน โดยผู้เป็น โรคหูดับ จะมีอาการที่หูได้ยินเสียงน้อยลง หรือไม่ได้ยินเสียงเลย อาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเพียงข้างเดียว
          อย่างไรก็ตามในทางทฤษฎีแล้วนั้น โรคหูดับ หมายถึง ระดับการได้ยินลดลงมากกว่า 30 เดซิเบล เป็นเวลานานเกินกว่า 72 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้อาการมักจะปรากฏเด่นชัดในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก อาการรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันได้มาก และระดับเสียงที่ไม่ได้ยิน อาจเป็นระดับเสียงที่ความดังเท่าใดก็ได้ไม่แน่นอนเสมอไป และอาการของ โรคหูดับ อาจเป็นเพียงชั่วคราว หรือเกิดขึ้นอย่างถาวรก็ได้

อาการของ โรคหูดับ
          จากสถิติพบว่าผู้ป่วย โรคหูดับ หนึ่งในสามมักจะมีอาการ หูดับ ในช่วงเช้า โดยเฉพาะหลังตื่นนอนใหม่ ๆ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน เวียนหัว บ้านหมุน มีเสียงดังในหูร่วมด้วย

หูดับ
กลุ่มเสี่ยง โรคหูดับ
          โรคหูดับ เกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชาย และเพศหญิง มักเป็นในทุกอายุ ตั้งแต่ 30-60 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังมาก ๆ เช่น ดารา นักแสดง พิธีกร นักร้อง ที่ต้องทำงานในสถานที่เสียงดัง รวมทั้งวัยรุ่น วัยทำงานที่ชอบฟังเพลงจากเครื่องเล่น MP3 เสียงดัง ๆ
สาเหตุการเกิด โรคหูดับ
          ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10-15 เท่านั้นที่หาสาเหตุได้ ว่าอาการ หูดับ เกิดจากอะไร ที่เหลือไม่พบสาเหตุแน่ชัด แต่มีการศึกษาพบว่า โรคหูดับ หรือ เส้นประสาทหูเสื่อม เกิดจากสาเหตุ 4 ประการ คือ 
 1.เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด
          ในบางรายงานทางการแพทย์ พบสาเหตุของ โรคหูดับ ว่าเกิดจากไวรัสมากถึงร้อยละ 60 โดยสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงทางน้ำเหลืองในห้องปฏิบัติการ โดยไวรัสที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza type B, ซัยโตเมกาโลไวรัส CMV, ไวรัสคางทูม mumps, รูบิโอลา rubeola, ไวรัสสุกใส-งูสวัด varicella-zoster ซึ่งไวรัสเหล่านี้จะไปทำให้หูชั้นในอักเสบได้
 2.เกิดจากภาวะที่หูชั้นในขาดเลือดไปเลี้ยง
          เพราะหูชั้นในมีความไวต่อปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมาก ดังนั้นหากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในอุดตัน ตีบตัว หรือแตก ก็อาจทำให้เป็น โรคหูดับ ได้
 3.ปฏิกิริยาทางอิมมูน
          เนื่องจากพบหลักฐานว่า มีผู้ป่วยโรคออโตอิมมูนหลายชนิด เช่น โรคลูปัส กลุ่มอาการโคแกน ฯลฯ มีอาการหูดับร่วมด้วย จึงเชื่อกันว่า โรคหูดับ อาจจะเกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานชนิดแอนติบอดี้ต่อเนื้อเยื่อตนเอง หรือที่เรียกว่า autoimmunity
 4.การฉีกขาดของเยื่อภายในหูชั้นใน Intracochlear Membrane
          โดยเยื่อดังกล่าวจะทำหน้าที่แยกหูชั้นใน ออกจากหูชั้นกลาง และแบ่งช่องของสารน้ำ ที่เป็นของเหลวที่อยู่ภายในหูชั้นใน หากเยื่อนี้ฉีกขาด จะทำให้ของเหลวเกิดการรั่วไหลได้ 
          อย่างไรก็ตาม การได้ยินเสียงดังมาก ๆ ในทันที เช่น เสียงระเบิด เสียงฟ้าผ่า ก็ทำให้ หูดับ ได้ จนสูญเสียได้ยินในทันที นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยบางรายเป็น โรคหูดับ เพราะความเครียด ไม่ได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อดหลับอดนอน เพราะโหมทำงานหนักมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้เกิด โรคหูดับ ได้เช่นกัน
          ทั้งนี้ยังมี โรคหูดับเฉียบพลัน (Sudden Sensorineural Hearing Loss) ที่อยู่ ๆ ผู้ป่วยเกิดไม่ได้ยินเสียงขึ้นมาเฉย ๆ จนหูดับไปจนเกือบไม่ได้ยินเลยในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งอาการ หูดับเฉียบพลันนี้ อาจเกิดจาก
          -  เนื้องอกของประสาทสมองที่ 8 กดทับเส้นเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน
          - การผิดปกติของเลือด
          -  เป็นโรคหลอดเลือด เช่น ความดันสูง การไหลเวียน กระแสโลหิตบกพร่อง หลอดเลือดอักเสบ หรืออุดตัน 
          -  การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย
          -  การฉีกขาดของเยื่อปิดหน้าต่างของหูชั้นใน เช่น ไอ หรือจามรุนแรง เกิดการผสมของน้ำในหู 2 ชนิด
          -  การได้รับการผ่าตัดหู
          -  ความผิดปกติทางฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์ 
          -  ความเครียด ทำให้การหลั่งฮอร์โมนคอติซอลของร่างกายหลุดไป 
          -  การผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน 
          -  การได้รับการกระทบกระแทกของศีรษะ อาจได้แรงอัดจากหูชั้นกลางสะเทือนไปหูชั้นใน หรือแรงดันสูงของโพรงน้ำในสมอง 
          -  โรคซิฟิลิสของหูและประสาท 
          -  ไม่ทราบสาเหตุ
          ส่วนโรคของหูชั้นในที่มีการคั่งของน้ำในหูชั้นใน อาจทำให้หูดับได้ทันที แต่อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง และมีกลุ่มอาการร่วมเป็นชุดคือ หูอื้อ เวียนหัว มีเสียงซ่า ๆ รบกวนในหู เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่เรียกว่า โรคเมเนียร์ (Maniere's Disease) โดยมักพบให้หญิงที่มีอาย 40-60 ปีมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

หูดับ
 การวินิจฉัย โรคหูดับ
          เมื่อผู้ป่วยฟังเสียงไม่ได้ยิน หรือมีอาการ หูดับ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที โดยแพทย์ หู-คอ-จมูก จะตรวจหูอย่างละเอียด และพิจารณาส่งไปตรวจวัดการได้ยิน ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัย และประเมินความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดี
          โดยการตรวจวัดระดับการได้ยิน เรียกว่า Hearing tests หรือ Audiometry แบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ คือ
          -  ระดับเล็กน้อย (mild) 25-39 เดซิเบล
          -  ระดับปานกลาง (moderate) 40-68 เดซิเบล
          -  ระดับรุนแรง (severe) 70-94 เดซิเบล 
          นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่า เอ็มอาร์เอ MRA และ เอ็มอาร์ไอ MRI เป็นการตรวจเส้นประสาทหูชั้นในและชั้นกลางอย่างละเอียด รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทหู เพื่อดูว่ามีโรคอื่นแทรกซ้อนทำให้ไม่ได้ยินหรือไม่ และสามารถตรวจพบเนื้องอกภายในสมองบริเวณนั้นที่อาจเป็นสาเหตุได้ โดยเนื้องอกดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า อะคูสติก นิวโรมา (acoustic neuroma)
 การรักษา โรคหูดับ
          การรักษาที่สำคัญคือ ต้องให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ประสาทหูฟื้นตัวโดยเร็ว โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งให้พักผ่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยระหว่างนี้ห้ามฟัง หรือเข้าใกล้เสียงดังมาก ๆ และหากหยุดทำงานได้จะดีที่สุด เพื่อจะได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน
          ทั้งนี้ อาการของ โรคหูดับ จะดีขึ้น หรือหายได้เองได้ราวร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด เช่นนั้นแล้ว ใครที่เป็น โรคหูดับ ไม่รุนแรงแพทย์อาจพิจารณาติดตามอาการเท่านั้น ไม่ต้องรับการรักษามากมาย
          นอกจากนี้ยังมีการรักษา โรคหูดับ ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ชื่อ อะซัยโคลเวีย (Acyclovir) สำหรับโรคที่เกิดจากไวรัส  HSV-1 และจะยิ่งได้ผลดีขึ้นเมื่อให้ยาต้านไวรัสร่วมกับยาสเตียรอยด์ ส่วนยาลดปฏิกิริยาอักเสบ กลุ่มสเตียรอยด์ corticosteroids ก็ได้ผลดีเช่นกัน
 การป้องกัน โรคหูดับ
          ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค หูดับ คือ ควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น ไม่ควรเปิดฟังเพลงจากเครื่องเล่น MP3 เสียงดังจนเกินไป และฟังเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงสถานที่ หรือสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังมาก ๆ ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กระทรวงสาธารณสุข
lifedd.net



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น