มะเร็งปากมดลูก
อาการ สาเหตุ การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งในผู้หญิงไทย มักพบในช่วงอายุ 30-70 ปี (พบได้สูงในช่วงอายุ 45-55 ปี) แต่ก็อาจพบได้ในคนที่มีอายุน้อย ๆ เช่น 20 ปี และในผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปก็ได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (น้อยกว่า 17 ปี) มีคู่นอนหรือมีสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก (หรือประมาณ 70% ของผู้ป่วยโรคนี้) มีสาเหตุมาจากการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus – HPV) ชนิด 16 และ 18 ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับชนิดที่ทำให้เกิดหูดและหงอนไก่ ที่ส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิด 6 และ 11 โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูก จนกลายเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง (ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก) และเป็นมะเร็งในที่สุด (เชื้อชนิดนี้ยังเป็นปัจจัยของการเกิดมะเร็งช่องปากและองคชาตได้ด้วย) โดยระยะเวลาตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อไวรัสจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งนั้นจะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี (อาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสริมทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย โดยแบ่งเป็น
- ปัจจัยเสี่ยงของฝ่ายหญิง ได้แก่
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 17-18 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูปของเซลล์ปากมดลูกมาก และในช่วงนี้จะมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเชื้อเอชพีวี
- คลอดบุตรจำนวนหลายคนหรือมากกว่า 3 คนขึ้นไป (จากรายงานพบว่า จำนวนครั้งของการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น 2-3 เท่า)
- น้ำหนักตัวเกิน
- การสูบบุหรี่
- มีคู่นอน หรือมีสามีหลายคน (ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น)
- เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อเอชไอวี
- มีประวัติเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือเกิดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อคลามีเดีย (ทำให้เป็นหนองในเทียม), หนองใน, ซิฟิลิส, เริม, เอชไอวี (ทำให้ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ และติดเชื้อเอชพีวีได้ง่าย) เป็นต้น
- เคยมีความผิดปกติหรือเกิดการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูก โดยตรวจพบจากการตรวจภายใน และจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ตรวจแปปสเมียร์)
- การกินยาเม็ดคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปีขึ้นไป (จากข้อมูลพบว่าถ้ากินยาคุมกำเนิดนานกว่า 5 ปี และ 10 ปี จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 1.3 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ)
- มีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนเพศชนิด Diethylstilbestrol (DES) เพื่อป้องกันการแท้งบุตร
- การรับประทานผักและผลไม้น้อย หรือจากการขาดสารอาหารบางชนิด โดยพบว่าผู้หญิงที่รับประทานผักและผลไม้น้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อย รวมทั้งมะเร็งปากมดลูกได้สูงกว่าคนที่รับประทานผักและผลไม้มาก
- อาจเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้เข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้ไม่ทั่วถึง (เนื่องจากพบโรคนี้ได้ทางภาคเหนือของประเทศ)
- ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน
- อาจเกิดจากพันธุกรรม หรือจากการที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคนี้
- ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อเอชพีวีมาจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงอาจกล่าวได้ว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ การที่ฝ่ายหญิงมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายชายที่มีเชื้อเอชพีวี (ส่วนใหญ่ฝ่ายชายจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสทำให้ติดเชื้อเอชพีวีและเป็นมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว โดยปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชายซึ่งเป็นคู่นอนนั้น ได้แก่
- ฝ่ายหญิงที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาต
- ฝ่ายหญิงที่แต่งงานกับฝ่ายชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
- ฝ่ายชายมีคู่นอนหลายคน
- ฝ่ายชายมีประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อย
- ฝ่ายชายเคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม หนองใน
- มีประวัติเป็นมะเร็งสืบพันธุ์อวัยวะเพศชาย
- ฝ่ายชายมีคู่นอนที่มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ
โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 0 (ระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง) จะเป็นระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถตรวจพบได้จากการตรวจแปปสเมียร์แล้ว แต่ยังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ จากการตรวจร่างกายได้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ในเฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปบริเวณช่องคลอดส่วนบนหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน แต่ยังไม่ลุกลามถึงผนังอุ้งเชิงกราน
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าไปจนถึงหรือติดผนังอุ้งเชิงกราน หรือก้อนมะเร็งมีการกดทับท่อไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นไม่ทำงาน (อาจเป็นกับไตทั้งสองข้างก็ได้)
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงแล้ว คือ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก หรือมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง ต่อมน้ำเหลือง
อาการของมะเร็งปากมดลูก
- ในระยะเริ่มแรกหรือในระยะก่อนเป็นมะเร็งผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ตรวจแปปสเมียร์)
- เมื่อเริ่มเป็นมากขึ้นหรือมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะพบว่ามีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด (เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณ 80-90% โดยลักษณะของเลือดที่ออกมาอาจจะเป็นเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน, เลือดออกในขณะหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์, เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน), ประจำเดือนมานานผิดปกติ, อาจมีอาการเจ็บในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ในบางรายอาจมีตกขาวมากผิดปกติ อาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปนออกมาด้วย
- ในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้วหรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อย, อาจปวดหลัง ปวดก้นกบ หรือปวดหลังร้าวลงขา หากโรคไปกดทับเส้นประสาท, อาจขาบวม หากโรคลุกลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานหรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน, อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือดหากโรคลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ และอาจมีปัสสาวะผิดปกติ หรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หากโรคลุกลามไปกดทับท่อไต (ทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง)
การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอด ตรวจคลำหน้าท้อง และตรวจทางทวารหนัก เพื่อจะได้เห็นปากมดลูกอย่างชัดเจน รวมไปถึงการคลำการลุกลามของโรคในอวัยวะข้างเคียง (คลำได้ทางทวารหนัก) หากตรวจพบก้อนเนื้อหรือแผล แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งไปตรวจทางพยาธิวิทยา
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการขูดเซลล์เยื่อบุปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้
- การตรวจด้วยกล้องตรวจปากมดลูก (Colposcopy) แพทย์นรีเวชอาจทำการตรวจด้วยวิธีนี้เพิ่มเติมและพิจารณาตัดชิ้นเนื้อในส่วนที่ผิดปกติ เพื่อส่งไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมต่อไป
- การตรวจอื่น ๆ การตรวจบางวิธีอาจช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การขูดมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด หรือตามแต่แพทย์นรีเวชจะเห็นว่าเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษามะเร็งปากมดลูก
แพทย์จะวินิจฉัยโดยการขูดเซลล์เยื่อบุปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือที่เรียกว่า “แปปสเมียร์” (Pap smear) ทำการใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก (Colposcopy) แล้วตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ ถ้าผลออกมาพบว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัด อาจให้รังสีบำบัด (ฉายรังสี ใส่แร่เรเดียม) และ/หรือทำเคมีบำบัดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นอยู่, สภาพร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย, โรคอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน), ความต้องการมีลูกของผู้ป่วย (ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังน้อย) และดุลยพินิจของแพทย์
ระยะที่ 0 (ระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง) ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะได้ผลดีเกือบ 100% ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- การทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ได้แก่ การใช้ความเย็นจัดจี้ทำลาย (Cryosurgery), การใช้เลเซอร์จี้ทำลาย, การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (LEEP) และการผ่าตัดปากมดลูก (Conization) หลังจากทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว ผู้ป่วยจะยังต้องทำการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจแปปสเมียร์ และอาจต้องตรวจโดยใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูก (Colposcopy) ทุก ๆ 3-6 เดือนหรือตามที่แพทย์นัดตรวจ (มักใช้รักษาเมื่อผู้ป่วยยังต้องการมีบุตรอยู่)
- การตัดมดลูกเพื่อเอามดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด ซึ่งมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีลูกเพียงพอแล้ว, ผู้ป่วยมีอายุมากหรืออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนแล้ว, ผู้ป่วยไม่สามารถติดตามผลการรักษาแบบการทำลายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกในระยะยาวได้ และผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพอย่างอื่นที่จะต้องทำการผ่าตัด เช่น เป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก
- หากไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังที่กล่าวมาข้างต้น แพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาโดยใช้รังสีรักษา (Radiation therapy)
ระยะที่ 1 ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี สูงถึง 80-90% ซึ่งการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- การผ่าตัด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ การผ่าตัดมดลูก โดยอาจผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้งสองข้างด้วย และการผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (หากผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาจากการผ่าตัดทั้งสองแบบพบว่า เนื้อเยื่อมะเร็งมีความรุนแรงสูง ส่งผลให้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้สูง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการให้รังสีรักษาเพิ่มเติม)
- การรักษาด้วยการให้รังสีรังรักษา ซึ่งอาจต้องทำทั้งฉายรังสีร่วมกับการใส่แร่ หรืออาจจะใส่แร่เพียงอย่างเดียว โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
- การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
ระยะที่ 2 ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณ 60-70% ซึ่งการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน ดังนี้
- การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (หากผลตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาจากการผ่าตัดออกมาพบว่า มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้สูง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการให้รังสีรักษาเพิ่มเติม)
- การรักษาด้วยการให้รังสีรักษา ซึ่งจะต้องให้ทั้งฉายรังสีร่วมกับการใส่แร่
- การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
ระยะที่ 3 ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณ 40-50% โดยจะเป็นการรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้เคมีบำบัดได้ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยรังสีรักษาเพียงอย่างเดียว ซึ่งการให้รังสีรักษานี้จะต้องให้ทั้งฉายรังสี ร่วมกับการใส่แร่
ระยะที่ 4 ในระยะนี้หากทำการรักษาอย่างถูกต้องจะมีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี ประมาณ 0-20% ซึ่งการรักษาจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- การรักษาด้วยการให้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งการให้รังสีรักษานี้จะต้องให้ทั้งฉายรังสี ร่วมกับการใส่แร่ โดยมักจะให้การรักษาในผู้ป่วยที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง คือ กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่แล้ว และผู้ป่วยจะต้องมีสภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น
- การรักษาด้วยการให้รังสีรักษา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย และเพื่อช่วยลดอาการที่เกิดจากมะเร็ง เช่น มีอาการปวด มีเลือดออก
- การรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ
- การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการ ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้การรักษาด้วยวิธีการรักษามะเร็ง เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัดได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
หมายเหตุ : สำหรับการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดนั้น โปรดติดตามได้ในบทความต่อไปครับ ว่าจะมีข้อควรปฏิบัติตัวหรือมีข้อห้ามคำแนะนำอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูก
ผลข้างเคียงจากการรักษาจะแตกต่างกันออกไปตามแต่วิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาร่วมกันหลาย ๆ วิธี
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ได้แก่ การบาดเจ็บจากการผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง การมีเลือดออก การติดเชื้อ อาการปวดและหากได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีลูกได้อีก หรือหากผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออก ผู้ป่วยก็จะมีภาวะหมดประจำเดือนและมีอาการของวัยทองได้
- ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้รังสีรักษา คือ ผิวหนังในบริเวณที่ทำการฉายรังสีเกิดเป็นแผลถลอก เป็นแผลเปียกคล้ายแผลถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลมีขนาดใหญ่ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ได้แก่ ผมร่วง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มือเท้าชา อ่อนเพลีย ภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกได้ง่าย การทำงานของไตลดลงเป็นต้น ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้จะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบเสรีหรือไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะจากการติดเชื้อเอชพีวีและเอชไอวี
- ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ฝ่ายชายควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ทางเพศสัมพันธ์ (การใส่ถุงยางอนามัยอาจป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ถ้ามีรอยของโรคอยู่นอกบริเวณที่ถุงยางครอบคลุมไปไม่ถึง)
- การคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย
- รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ เป็นประจำ
- ไม่สูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส
- พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ในปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV vaccine หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “วัคซีนมะเร็งปากมดลูก“) ออกมาให้บริการแล้ว ซึ่งจะเริ่มฉีดให้เด็กหญิงตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม (เข็มที่ 2 จะฉีดห่างจากเข็มแรก 2 เดือน ส่วนเข็มที่ 3 จะฉีดห่างจากเข็มที่สอง 6 เดือน) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกเฉพาะที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชพีวี (พบได้ประมาณ 70% ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก) แต่มีข้อเสียคือ วัคซีนยังมีราคาแพง (เข็มละประมาณ 2,000-3,000 บาท) ยังไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% (สามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 70%) และต้องมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนให้ได้ผลอีกด้วย
- ที่สำคัญที่สุดก็คือหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะแรกที่ยังไม่แสดงอาการ (แปปสเมียร์) หากพบว่าเซลล์ปากมดลูกเริ่มมีความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous) จะได้ให้การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งได้ทัน แต่หากพบว่าเริ่มเป็นมะเร็งในระยะแรก (ก่อนแสดงอาการ) ก็จะได้ให้การรักษาให้หายขาดได้
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงทุกคนควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งระยะแรกด้วยวิธีแปปสเมียร์ ดังนี้
- ควรเริ่มตรวจตั้งแต่หลังแต่งงานหรือเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้ 3 ปี หรือเมื่ออายุได้ 21 ปีขึ้นไป ในผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
- ควรตรวจเป็นประจำทุกปี ถ้าผลตรวจออกมาเป็นปกติติดต่อกัน 3 ครั้ง และเป็นผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (เช่น มีการติดเชื้อเอชไอวี ได้รับยาเคมีบำบัด สูบบุหรี่ กินยาเม็ดคุมกำเนิด ฯลฯ) อาจเว้นระยะห่างของการตรวจเป็นทุก ๆ 2-3 ปีได้ แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงก็ควรตรวจเป็นประจำทุกปี
- ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หากเคยมีผลการตรวจว่าเป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 3 ครั้ง และไม่เคยมีผลการตรวจที่ผิดปกติมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ก็สามารถหยุดการตรวจแปปสเมียร์ได้ แต่ถ้าเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาก่อนแล้ว หรือมีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมา ก็ควรจะได้รับการตรวจต่อไปตราบเท่าที่ร่างกายยังแข็งแรง
- ผู้หญิงที่เคยผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกทั้งหมด โดยไม่มีสาเหตุมาจากมะเร็ง สามารถหยุดการตรวจแปปสเมียร์ได้ แต่ถ้าการผ่าตัดมดลูกนั้นทำไปเพียงบางส่วนและยังคงปากมดลูกเอาไว้ ก็ควรได้รับการตรวจแปปสเมียร์แบบผู้หญิงทั่วไปดังที่กล่าวมาข้างต้น
- สำหรับการเตรียมตัวก่อนไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกนั้น แนะนำว่าควรงดมีเพศสัมพันธ์ในคืนวันก่อนที่จะมารับการตรวจภายใน, ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอดมาก่อน 24 ชั่วโมง, ไม่ควรมีการตรวจภายในมาก่อน 24 ชั่วโมง, ไม่ควรเหน็บยาใด ๆ ในช่องคลอดมาก่อน 48 ชั่วโมง และควรมารับการตรวจหลังหมดประจำเดือนแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ (สำหรับผู้ที่ไม่มีประจำเดือนแล้วสามารถมาตรวจได้เลย)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1159-1160.
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)”. (พญ.ชลศณีย์ คล้ายทอง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com.
- ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย. “ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก”. (รศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rtcog.or.th.
ภาพประกอบ : www.mdguidelines.com, www.womeningovernment.org, www.soc.ucsb.edu, www.cecpng.org, columbiaasia.com
CR :: เว็บไซต์เมดไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น