14 มีนาคม 2561

มะเร็งชนิดต่อม (adenocarcinoma)

มะเร็งชนิดต่อม (adenocarcinoma)




มะเร็งชนิดต่อม หรือ อะดีโนคาร์ซิโนมา (อังกฤษadenocarcinoma) เป็นมะเร็งที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อต่อม (glandular tissue) ซึ่งเป็นเยื่อบุผิว (epitheliam) ชนิดหนึ่ง การที่เซลล์มะเร็งจะได้รับการจัดชนิดเป็นมะเร็งชนิดต่อมนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนประกอบของต่อมใดๆ ตราบใดที่ยังแสดงถึงความสามารถในการหลั่งสารอยู่ มะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงบางชนิดรวมถึงมนุษย์ มะเร็งชนิดต่อมที่มีการเปลี่ยนสภาพของเซลล์ดีอาจมีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อต่อมที่เจริญมาได้ ในขณะที่ชนิดที่มีการเปลี่ยนสภาพของเซลล์แย่อาจไม่คล้ายเลยก็ได้ การย้อมสีชิ้นเนื้อจากการตัดชิ้นเนื้อตรวจจะทำให้นักพยาธิวิทยาหรือพยาธิแพทย์สามารถตรวจพบได้ว่าเนื้องอกนั้นๆ เป็นมะเร็งชนิดต่อมหรือชนิดอื่น มะเร็งชนิดต่อมสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ ที่ในร่างกายจากการที่มีเนื้อเยื่อต่อมอยู่หลายที่ในร่างกาย เนื้องอกของต่อมไร้ท่อหลายๆ ชนิด เช่น VIPoma insulinoma pheochromocytoma และอื่นๆ มักไม่ถูกเรียกว่าเป็นมะเร็งชนิดต่อมแต่จะถูกเรียกว่า neuroendocrine tumor แทน หากเนื้อเยื่อที่เจริญจากต่อมนั้นมีความผิดปกติแต่ไม่เป็นเนื้อร้ายจะเรียกว่าเนื้องอกต่อม (adenoma) โดยเนื้องอกต่อมซึ่งไม่เป็นเนือ้ร้ายนี้จะไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงและน้อยมากที่จะมีการแพร่กระจาย ในขณะที่มะเร็งชนิดต่อมสามารถลุกลามและแพร่กระจายได้



โรคมะเร็ง เป็นโรคเรื้อรังและร้ายแรง เกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายบางส่วนไม่มีการตายตามธรรมชาติ แต่กลับมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ เซลล์มะเร็ง ชนิด คาร์ซิโนมา(Carcinoma, มะเร็งคาร์ซิโนมา) และเซลล์มะเร็งชนิดซาร์โคมา (Sarcoma, มะเร็งซาร์โคมา)
มะเร็งซาร์โคมา เป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และได้แยกเขียนต่างหากในอีกบทความ (ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา) จึงจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “มะเร็งคาร์ซิโนมา” เท่านั้น
มะเร็งคาร์ซิโนมา เป็นมะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งเนื้อเยื่อบุผิว คือ เนื้อเยื่อที่ปกคลุมอยู่ภายนอกเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ผิวหนัง หนังศีรษะ หรือปกคลุมอวัยวะภายใน เช่น รังไข่ อัณฑะ ท่อไต เป็นต้น และอาจจะเรียกได้อีกหลายชื่อ ขึ้นกับหน้าที่ของเยื่อบุผิวนั้นๆ เช่น ถ้าเนื้อเยื่อบุผิว บุปกคลุมอยู่ภายในหลอดเลือด และหัวใจ เรียกว่า เนื้อเยื่อบุโพรง(Endothelium) แต่ถ้าบุภายในอวัยวะ และสร้างน้ำเมือกเพื่อการหล่อลื่นอวัยวะนั้นๆ เพื่อการสร้างสารต่างๆ เช่น  น้ำลาย เอนไซม์ (Enzyme) ต่างๆ  ฮอร์โมนต่างๆ หรือดูดซึมสารต่างๆ เช่น อาหาร จะเรียกว่า เยื่อเมือก/เนื้อเยื่อเมือก (Mucosa) เช่น เยื่อบุผิวในช่องปากและลำคอ และในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
มะเร็งคาร์ซิโนมา เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด เกือบทั้งหมดของโรคมะเร็ง (ประมาณ 90-95%) จะเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ (พบมะเร็งซาร์โคมาได้เพียงประมาณ 5-10%ของโรคมะเร็งทั้งหมด) ดังนั้น โดยทั่วไป เมื่อพูดถึง ”โรคมะเร็ง (Cancer) จึงมักหมายถึงมะเร็งชนิดนี้ คือ มะเร็งคาร์ซิโนมา”
มะเร็งคาร์ซิโนมา เกิดได้กับทุกเนื้อเยื่อและทุกอวัยวะทั่วร่างกาย พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย บางอวัยวะจะพบโรคในเพศหญิงได้สูงกว่าในเพศชาย เช่น โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แต่บางอวัยวะจะพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง เช่น โรคมะเร็งปอดและพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมะเร็งคาร์ซิโนมา เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป พบในวัยเด็กได้เพียงประมาณ 10% เท่านั้น (มะเร็งของเด็ก มักเป็นมะเร็งซาร์โคมา)


มะเร็งคาร์ซิโนมา


สาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็งทุกชนิด ยังไม่ทราบชัดเจน แต่จากการศึกษาเชื่อว่า ต้องประกอบด้วยหลายๆปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน ทั้งนี้ โรคมะเร็งคาร์ซิโนมา ก็เช่นเดียวกัน คือ ยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่พบปัจจัยเสี่ยงได้หลายปัจจัย ได้แก่
  • การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งคาร์ซิโนของอวัยวะต่างๆเกือบทุอวัยวะ ที่สำคัญ คือ โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ โรคมะเร็งของอวัยวะในระบบหู คอ  จมูก  โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งของหลายอวัยวะเช่นกัน โดยเฉพาะ โรคมะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ  โรคมะเร็งของอวัยวะในระบบหู คอ จมูก และโรคมะเร็งตับ
  • การติดเชื้อโรคชนิดเรื้อรังต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ (ปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคมะเร็งตับ)  ไวรัสเอชพีวี (ปัจจัยเสี่ยงต่อ  โรคมะเร็งปากมดลูก) ไวรัสเอชไอวี (ปัจจัยเสี่ยงต่อ  โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง)  พยาธิใบไม้ตับ (ปัจจัยเสี่ยงต่อ  โรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากเซลล์ท่อน้ำดีในตับ)
  • การได้รับสารพิษ (สารก่อมะเร็ง) เรื้อรัง เช่น สารอะฟลาทอกซิน (สารพิษจากเชื้อราที่ขึ้นในธัญญพืชต่างๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับ)  สารหนู (ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง)
  • การได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนัง
  • การได้รับรังสีบางชนิดเรื่อรัง เช่น รังสีไอออนไนซ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
  • โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • การใช้ยาบางชนิดเรื้อรัง เช่น ยาฮอร์โมน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ โรคมะเร็งเต้านม
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในครอบครัวของคนที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา


มะเร็งคาร์ซิโนมามีกี่ชนิด? ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?

มะเร็งคาร์ซิโนมามีหลากหลาชนิดมาก แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด มี 2 ชนิด คือ ชนิด สะความัส (Squamous cell carcinoma) และชนิด อะดีโน (Adenocarcinoma) ส่วนชนิดอื่นๆ เช่น Adenosquamous carcinoma, Mucoepidermoid carcinoma, Infiltrating ductal carcinoma, Invasive ductal carcinoma, เจิมเซลล์ (Germ cell tumor) และชนิด Undifferentiated carcinoma เป็นต้น



มะเร็งคาร์ซิโนมามีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา แต่ทุกชนิดของโรคมะเร็งจะมีอาการเหมือนๆกัน คือ มีก้อนเนื้อ หรือมีแผลเรื้อรัง นอกจากนั้น อาการอื่นๆจะขึ้นกับว่า เป็นมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะใด อาการก็จะคล้ายการอักเสบที่เกิดกับอวัยวะเหล่านั้น เช่น 
  • ถ้าเกิดกับปอด (โรคมะเร็งปอด) ก็จะมีอาการไอเรื้อรัง เสมหะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด หรือหายใจเหนื่อยหอบ เป็นต้น
  • ถ้าเกิดกับเต้านม (โรคมะเร็งเต้านม) อาการที่พบบ่อย คือ มีก้อนในเต้านม
  • ถ้าเกิดกับปากมดลูก (โรคมะเร็งปากมดลูก) ก็จะมีการตกขาว และ/หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ถ้าเกิดกับกระเพาะอาหาร (โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร) อาการ คือ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาเจียนเป็นเลือด


มะเร็งคาร์ซิโนมามีกี่ระยะ?

โดยทั่วไปโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา มี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีก เช่น เป็น เอ (A) บี(B) หรือ ซี(C) ทั้งนี้ระยะย่อยเหล่านี้ เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วน ระยะศูนย์(0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน จึงอาจเรียกว่า เป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง
ทั้งนี้ระยะโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาจะแตกต่างกัน ขึ้นกับเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใด ซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความแต่ละชนิดของโรคมะเร็งนั้นๆซึ่งในภาพรวมสรุปได้ดังนี้ คือ
ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก โรคยังไม่ลุกลามออกนอกอวัยวะที่เป็นมะเร็ง
ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ
ระยะที่ 3: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
ระยะที่ 4: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงจนทะลุ และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้อวัยวะนั้นๆโดยต่อมน้ำเหลืองจะมีขนาดโตมาก และ/หรือ มีหลากหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ ระบบน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า



มะเร็งคาร์ซิโนมารุนแรงไหม?

ความรุนแรงหรือโอกาสรักษาได้หายของมะเร็งคารร์ซิโนมา มีได้ตั้งแต่มีโอกาสหายขาดได้สูงถึง มากกว่า 80-90% ไปจนถึง ไม่มีโอกาสหายขาด ทั้งนี้ขึ้นกับหลากหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ 
  • เป็นโรคมะเร็งของอวัยวะใด (โรคมะเร็ง ตับและโรคมะเร็งปอดมีความรุนแรงสูงสุด ในขณะที่โรคมะเร็งผิวหนังและโรคมะเร็งอัณฑะมีความรุนแรงต่ำสุด) 
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง (เช่น ชนิด Undifferentiated มีความรุนแรงสูงสุด ชนิด สะความัสและชนิดอะดีโนมีความรุนแรงปานกลาง และชนิดเจิมเซลล์มีความรุนแรงต่ำสุด) 
  • ระยะของโรคมะเร็ง
  • สุขภาพ และ
  • อายุของผู้ป่วย 


แพทย์วินิจฉัยมะเร็งคาร์ซิโนมาอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งซาร์โคมาได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งอื่นๆทั่วๆไป คือจาก ประวัติอาการมีก้อนเนื้อหรือแผลเรื้อรัง  การตรวจร่างกาย การตรวจภาพอวัยวะที่เกิดโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ และที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมาแล้ว จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการจัดระยะของโรคมะเร็งและประเมินสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือด(ดูโรคเบาหวาน) ดูการทำงานของ ตับไต และเกลือแร่ต่างๆ การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูโรคของปอด หัวใจ และดูว่ามีมะเร็งแพร่กระจายสู่ปอดหรือไม่ การตรวจภาพตับดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับด้วย อัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และอาจมีการตรวจภาพกระดูกด้วยการสะแกนกระดูกเมื่อสงสัยมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่กระดูก เป็นต้น


รักษามะเร็งคาร์ซิโนมาอย่างไร?

วิธีรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งชนิดคาร์ซิโนมา จะเหมือนกัน คือ การผ่าตัด  รังสีรักษา  ยาเคมีบำบัด  ยารักษาตรงเป้า และการรักษาประคับประคองตามอาการด้วยวิธีการทางอายุรกรรมทั่วไป (เช่น ยาแก้ปวด การให้ออกซิเจน การให้เลือด การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น) ซึ่งอาจเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งวิธีเดียว หรือหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็งสุขภาพของผู้ป่วย และอายุของผู้ป่วย เป็นหลัก ทั้งนี้อ่านเพิ่มเติมในเรื่องการรักษาโรคมะเร็งต่างๆตามแต่ชนิดของโรคมะเร็งได้


มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่
ก. การผ่าตัด:  ผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะ การเสียเลือด  แผลผ่าตัดติดเชื้อ และการเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
ข.รังสีรักษา: มีผลข้างเคียงซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นการให้รังสีรักษากับอวัยวะใดที่เป็นต้นกำเนิดของโรคมะเร็ง เช่น
  • ผิวหนัง 
  • ศีรษะและลำคอ 
  • ช่องท้อง 
  • เต้านม 
  • ปอด 
  • สมอง 
ค.ยาเคมีบำบัด:  ผลข้างเคียง คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน  ผมร่วง  ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 
ง.ยารักษาตรงเป้า:  ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย  แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้ 
อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งคาร์ซิโน มา นอกจากจะขึ้นกับวิธีรักษาแล้ว ผลข้างเคียงจะสูง ขึ้นเมื่อ 
  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน 
  • เมื่อมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ในผู้สูบบุหรี่ 
  • ในผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • และในผู้สูงอายุ


ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญคือ เมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดตำแหน่งใด ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ ส่วนเมื่อทราบแล้วว่า เป็นโรคมะเร็งคาร์ซิโนมา การดูแลตนเอง การพบแพทย์ ได้แก่
  • ปฏิบัติตามแพทย์ และพยาบาลผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งแนะนำ
  • รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิตให้แข็งแรงเสมอ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการรักษาโรคมะเร็งเป็นการรักษาที่ซับซ้อน มีผลข้างเคียง และมีค่าใช้จ่าย จากการรักษาสูงกว่าการรักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งผลการรักษาเองก็พยากรณ์ได้ยาก 
  • หยุดกิน ไม่กิน ยาสมุนไพร อาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ และ/หรือใช้การแพทย์ทางเลือก การแพทย์สนับสนุนต่างๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อยาต่างๆ เช่น ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน และรังสีรักษาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งได้
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว จะช่วยลดผลข้างเคียงต่างๆจากการรักษาลงได้มาก 
  • ปรึกษาแพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาเสมอ เมื่อมีความสงสัย ปัญหา ความกลัว ความกังวล
  • อย่าหยุดการรักษาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาลผู้ให้การรักษาก่อนเสมอ
  • พบแพทย์ผู้รักษาตามนัดเสมอ 
  • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการ


มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาไหม?

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่ประสิทธิภาพ คือ เมื่อตรวจพบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการและได้รับการรักษา โอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดนั้นๆจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคาร์ซิโนมาที่มีประสิทธิภาพ มีเพียง 3 โรคเท่านั้น คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก  การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะพูดคุยแนะนำกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป เนื่องจากการตรวจเนื้อเยื่อต่อมลูกหมาก เป็นการตรวจที่อาจก่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น การติดเชื้อรุนแรงของต่อมลูกหมาก เป็นต้น


ป้องกันมะเร็งคาร์ซิโนมาอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดมะเร็งคาร์ซิโนมา ที่แน่นอนชัดเจนดังนั้น การป้องกันมะเร็งคาร์ซิโนมาให้ได้ผลเต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสียง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆด้วย การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวันเช่นกัน
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • จำกัดสุรา ผู้ชายไม่เกินวันละ 2 ดริงค์ (Drink) ผู้หญิงไม่เกินวันละ 1 ดริงค์


ที่มา  ::  เว็บไซต์  http://haamor.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น