นิ้วล็อค (Trigger Finger)
นิ้วล็อค (Trigger Finger) คืออาการที่นิ้วเกิดล็อคเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ นิ้วก็จะเกิดอาการล็อค ไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ
อาการของนิ้วล็อค
นิ้วล็อคมักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง ทั้งนี้ อาการนิ้วล็อคอาจเกิดขึ้นกับนิ้วหลายนิ้วได้ในเวลาเดียวกัน หรืออาจเกิดขึ้นได้กับนิ้วมือทั้ง 2 ข้างด้วย โดยอาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเมื่อนิ้วใดนิ้วหนึ่งพยายามงอในขณะที่มือต้องออกแรงทำบางอย่าง เมื่อนิ้วล็อค อาจจะเกิดอาการดังนี้
- รู้สึกดังกึกเมื่อต้องงอหรือยืดนิ้ว
- เกิดอาการนิ้วแข็ง ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนเช้า
- รู้สึกตึงและรู้สึกเหมือนมีบางอย่างนูนขึ้นมาตรงโคนของนิ้วที่ล็อค
- นิ้วล็อคเมื่องอนิ้ว ซึ่งเกิดขึ้นทันทีที่ยืดนิ้วกะทันหัน
- นิ้วล็อคเมื่องอนิ้วโดยไม่สามารถยืดนิ้วกลับมาได้
สาเหตุของนิ้วล็อค
เอ็นคือพังผืดที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกไว้ด้วยกัน ซึ่งเอ็นและกล้ามเนื้อที่มือและแขนจะช่วยให้นิ้วมืองอและยืดได้ โดยเอ็นแต่ละส่วนถูกล้อมรอบไว้ด้วยปลอกหุ้มเอ็น อาการนิ้วล็อคจะเกิดขึ้นเมื่อปลอกหุ้มเอ็นตรงนิ้วอักเสบหนาตัวขึ้น ซึ่งทำให้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นตรงนิ้วไม่สามารถยืดหรืองอได้ตามปกติ
ปัจจัยที่เสี่ยงให้เกิดอาการนิ้วล็อคนั้น ได้แก่
- การถือหรือแบกของนาน อาชีพหรือกิจกรรมที่ต้องใช้มือทำและทำให้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานาน รวมทั้งทำซ้ำบ่อย ๆ เช่น ทำสวน ตัดแต่งต้นไม้ ใช้ไขควงทำงาน หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงกด กิจกรรมลักษณะนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการนิ้วล็อค ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการนิ้วล็อค ซึ่งเกิดจากการใช้นิ้วมือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือลงน้ำหนักเยอะรวมทั้งทำกิจกรรมนั้นซ้ำๆ มักเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพชาวนา ชาวไร่ พนักงานโรงงาน ผู้ใช้แรงงาน และนักดนตรี เนื่องจากหน้าที่ของอาชีพเหล่านี้ทำให้ต้องใช้มือทำงานในลักษณะที่กล่าวมา นอกจากนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ก็สามารถเกิดอาการนิ้วล็อคได้ โดยนิ้วโป้งจะล็อค เพราะต้องใช้งานในการจุดไฟแช็คบ่อย อย่างไรก็ดี อาการนิ้วล็อคมักพบได้ทั่วไปในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดกับผู้ที่มีอายุ 40-60 ปี
- ปัญหาสุขภาพ บางครั้งอาการนิ้วล็อคอาจเกี่ยวข้องกับการป่วยด้วยโรคที่ก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อที่มือ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคเกาต์ เบาหวาน โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) และโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการนิ้วล็อค โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการของโรคที่ตนป่วยขึ้นร่วมด้วย
การวินิจฉัยนิ้วล็อค
หากพบว่าเกิดอาการข้อต่อตรงนิ้วแข็งหรือล็อค ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจมือและวินิจฉัย และหากข้อต่อนิ้วเกิดอาการแสบร้อนหรืออักเสบก็ควรรักษาทันที เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณบอกว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อได้ โดยแพทย์ที่ทำการวินิจฉัยอาการนิ้วล็อคมักเป็นแพทย์ทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และอายุรแพทย์
การวินิจฉัยนิ้วล็อคนั้นไม่ต้องทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์หรือการตรวจในห้องปฏิบัติการ ขั้นแรกแพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติการรักษาของผู้ป่วยและการตรวจร่างกายปกติ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยลองกำมือแบมือ เพื่อดูว่าผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บบริเวณใด สามารถกำมือแบมือได้ตามปกติหรือไม่ และเกิดอาการนิ้วล็อคตรงไหน ทั้งนี้ แพทย์อาจคลำมือผู้ป่วยเพื่อดูว่าเกิดก้อนที่มือหรือไม่ โดยก้อนบนมือที่เกี่ยวข้องกับอาการนิ้วล็อคนั้นจะเคลื่อนไปตามที่นิ้วมือเคลื่อนไหว เพราะก้อนดังกล่าวยึดอยู่กับเอ็นที่ติดกับนิ้ว
การรักษานิ้วล็อค
ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคบางรายอาจมีอาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาอาการนิ้วล็อคนั้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้
- การบำบัด อาการนิ้วล็อคสามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่นอกเหนือไปจากการรับประทานยา ดังนี้
- พักผ่อน พักมือจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือออกแรงหรือแบกน้ำหนักมาก ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยเว้นกิจกรรมดังกล่าวเพื่อพักการใช้งานมืออย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
- ประคบร้อนหรือเย็น ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคบางรายอาจใช้วิธีประคบเย็นที่ฝ่ามือ ซึ่งช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้น นอกจากนี้ การแช่น้ำอุ่นก็บรรเทาอาการให้ทุเลาลงโดยเฉพาะหากทำในช่วงเช้า
- ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว (Splinting) จะช่วยดามนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป อีกทั้งช่วยให้นิ้วได้พัก หากเกิดอาการนิ้วล็อคหรือนิ้วแข็งตอนเช้าเป็นประจำ แพทย์จะให้ใส่อุปกรณ์ดังกล่าวดามนิ้วไว้ตลอดคืน เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วเกร็งหรืองอเข้าไปเองขณะที่ผู้ป่วยหลับ แม้วิธีนี้จะช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้นสำหรับผู้ป่วยบางราย แต่การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้วก็อาจได้ผลน้อยกว่าการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยต้องการวิธีรักษาที่เห็นผลในระยะยาว
- ออกกำลังกายยืดเส้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ
- การรักษาด้วยยา ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคสามารถรับประทานยาที่ต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ยาดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาอาการบวมตรงปลอกหุ้มเอ็นนิ้วได้
- การศัลยกรรมและกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อครุนแรง หรือวิธีรักษาด้วยยาและการบำบัดใช้ไม่ได้ผล อาการไม่ดีขึ้น อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการศัลยกรรมและกระบวนการทางการแพทย์วิธีอื่น ดังนี้
- การฉีดสารสเตียรอยด์ การรักษาอาการนิ้วล็อคด้วยวิธีนี้เป็นการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งช่วยลดอาการบวมอักเสบของเอ็น และช่วยให้เอ็นนิ้วสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ โดยแพทย์อาจจะผสมยาชาในการฉีดสารดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บเมื่อทำการรักษา จัดเป็นวิธีรักษาที่พบได้ทั่วไป หลังจากฉีดสารสเตียรอยด์แล้ว แพทย์อาจให้ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว 2-3 วันเพื่อให้นิ้วได้พัก อาการนิ้วล็อคจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันหลังจากรับการรักษา โดยทั่วไปมักอาการดีขึ้นหลังฉีดไปได้หลายสัปดาห์ การฉีดสารสเตียรอยด์เป็นวิธีรักษาที่ได้ผลประมาณ 50-80 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจได้ผลน้อยกว่าหากผู้ที่รับการรักษาป่วยเป็นโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการรักษาบางรายอาจเกิดปัญหาอื่นขึ้นมาหลังได้รับสเตียรอยด์ ซึ่งอาจต้องมารับการฉีดสเตียรอยด์ครั้งที่ 2 อีกครั้งเมื่อปัญหานั้นหายไป แต่ประสิทธิภาพของยาก็จะน้อยกว่าการฉีดครั้งแรก ความเสี่ยงจากการฉีดสเตียรอยด์เพื่อรักษานิ้วล็อคปรากฏเพียงเล็กน้อย โดยผู้ที่รับการรักษาอาจผิวบางหรือสีผิวเปลี่ยนตรงบริเวณที่ฉีดสเตียรอยด์เข้าไป
- การผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อค โดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่วนที่ปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วเกิดปัญหา และทำให้เอ็นนิ้วกลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติ โดยแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดจากระดับความรุนแรงของอาการและผลกระทบจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การผ่าตัดสามารถรักษาอาการนิ้วล็อคได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้อยรายที่จะเกิดปัญหาหลังรับการผ่าตัด โดยทั่วไปผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ แพทย์จะให้ยาชาก่อนผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บแผลผ่าตัดที่มือหลังจากฟื้นขึ้นมา การผ่าตัดรักษานิ้วล็อคประกอบด้วยการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษ ดังนี้
- การผ่าตัดแบบเปิด (Open Trigger Finger Release Surgery) แพทย์จะเริ่มฉีดยาชา ที่ฝ่ามือผู้ป่วย และผ่าตามแนวปลอกหุ้มเอ็นที่นิ้วให้เปิดกว้างออก หลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะเย็บแผลและปิดด้วยผ้าพันแผลให้เรียบร้อย
- การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษ (Percutaneous Release) แพทย์จะฉีดยาชาที่มือผู้ป่วยเช่นเดียวการผ่าตัดแบบเปิด แต่การผ่าตัดด้วยเครื่องมือพิเศษนี้จะไม่ได้กรีดมีดผ่าตัดลงไปเหมือนวิธีแรก แต่จะสอดเข็มแทงเข้าไปบริเวณโคนนิ้วที่เกิดอาการล็อค และใช้ปลายเข็มสะกิดเอ็นนิ้ว โดยแพทย์อาจจะทำการผ่าตัดพร้อมด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่าปลายเข็มที่สอดเข้าไปใต้ผิวหนังนั้นเกี่ยวปลอกหุ้มเอ็นที่ต้องการโดยไม่ไปทำลายเอ็นหรือเส้นประสาทส่วนอื่นหรือไม่ แม้การผ่าตัดด้วยเครื่องมือพิเศษนี้จะไม่ทำให้เกิดรอยแผลเหมือนการผ่าตัดแบบเปิด แต่ถือว่าค่อนข้างเสี่ยงกว่าและอาจได้ผลน้อยกว่า เนื่องจากหลอดเลือดแดงและเส้นประสาทที่สำคัญอยู่ใกล้ปลอกหุ้มเอ็นมาก ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายได้ง่าย การผ่าตัดแบบเปิดจึงเป็นวิธีผ่าตัดรักษานิ้วล็อคที่ได้รับเลือกมากกว่า
สำหรับเด็กที่เกิดอาการนิ้วล็อคนั้น จะดีขึ้นเองเมื่อเด็กโตขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา โดยเด็กอาจใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้วหรือออกกำลังกายมือเพื่อช่วยยืดเส้น การรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์มักไม่ใช้รักษาอาการนิ้วล็อคที่เกิดในเด็ก แต่หากเด็กจำเป็นต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดแทน
ภาวะแทรกซ้อนของนิ้วล็อค
โดยทั่วไปแล้ว อาการนิ้วล็อคไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคก็อาจได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการผ่าตัด
แม้การผ่าตัดคือวิธีรักษาอาการนิ้วล็อคที่ปลอดภัย แต่การผ่าตัดศัลยกรรมทุกประเภทย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ผู้ที่ได้รับการรักษา โดยผู้ที่เกิดอาการนิ้วล็อคอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังได้รับการผ่าตัดรักษานิ้วล็อค ดังนี้
- ติดเชื้อ
- นิ้วแข็งหรือเจ็บ
- เกิดแผลเป็น
- เส้นประสาทถูกทำลาย หากเส้นประสาทของผู้ป่วยถูกทำลายระหว่างรับการผ่าตัด นิ้วที่เกิดอาการล็อคอาจไม่ดีขึ้นเต็มที่หลังได้รับการรักษา
- เอ็นนิ้วงอได้ไม่สุด เรียกว่าภาวะบาวสตริง (Bowstring) ซึ่งเกิดจากเอ็นอยู่ผิดตำแหน่ง
- เกิดกลุ่มอาการเจ็บปวดเฉพาะที่แบบซับซ้อน (Complex Regional Pain Syndrome: CRPS) หรือกลุ่มอาการซีอาร์พีเอส ซึ่งทำให้มือของผู้ป่วยปวดและบวมหลังได้รับการผ่าตัด หลังจากนั้นอาการดังกล่าวมักหายไปเองในไม่กี่เดือน ถึงอย่างนั้น กลุ่มอาการซีอาร์พีเอสก็สามารถเป็นปัญหาที่เกิดได้ถาวร
การป้องกันนิ้วล็อค
อาการนิ้วล็อคสามารถป้องกันได้โดยเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ออกแรงทำให้กล้ามเนื้อนิ้วหดหรืองออยู่นาน ๆ นอกจากนี้อาการนิ้วล็อคที่เกิดจากการป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ก็สามารถป้องกันได้ โดยเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคนั้น และเกิดอาการนิ้วล็อค ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) หยุดสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และเลี่ยงการอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ เพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคข้อรูมาตอยด์
- โรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อยู่ในช่วงไม่แสดงอาการนั้นควรใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่โรคกำเริบ โดยดื่มน้ำเปล่าและรับประทานอาหารโปรตีนสูงไขมันต่ำ จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอลล์และการรับประทานเนื้อสัตว์ ปลา และสัตว์ปีก รวมทั้งรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้คือทำกิจกรรมที่ช่วยกระจายแรงกดตรงข้อมือและช่วยให้มือและข้อมือได้เคลื่อนไหว โดยยืดข้อมือให้ตรงแล้วค่อย ๆ งอเข้า หรือเลี่ยงการงอหรือบิดข้อมือเป็นเวลานาน พักมือหรือเปลี่ยนท่าเมื่อต้องทำงานท่าเดิมนาน ๆ ทั้งนี้ หากไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อมือได้ อาจใส่อุปกรณ์ดามข้อมือไว้ขณะที่หลับ โดยเฝือกจะช่วยพยุงข้อมือ ไม่ทำให้ข้อมืองอเข้าหรือบิดออกมากเกินไป และช่วยลดแรงกดน้ำหนักไปที่นิ้วมือ มือ และข้อมือ
ที่มา :: เว็บไซต์ pobpad.com