ถ้าย้อนเวลากลับไปในปี 2520 กับแชร์ลูกโซ่คดีดังที่สร้างความเสียหายมากสุด ณ ขณะนั้น คงต้องยกให้คดีจับกุมตัวแม่ตัวการใหญ่อย่าง แชร์น้ำมัน “แม่ชม้อย” แม้จะถือเป็นบทเรียนบทโกงหลายพันล้านบาทให้น่าเข็ดขยาดหลาบจำไปอีกนานแต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ช่วยให้เชื้อร้ายแห่งกลโกง “แชร์ลูกโซ่” หายไปจากเมืองไทยแถมยิ่งนานวันยิ่งแพร่ระบาดกลโกงรูปแบบใหม่ๆออกมาได้เรื่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้ “พันตำรวจเอกประทีป เจริญกัลป์” ในฐานะผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. ชี้ชัดไปที่ “ความโลภ” เป็นเสมือนตัวกระตุ้นให้แชร์ลูกโซ่เพาะสายพันธุ์โกงใหม่ๆขึ้นมาได้ตลอดเวลา และควรแยกแยะให้ออกระหว่าง “แชร์ลูกโซ่กับธุรกิจขายตรง” รวมถึง “ขายตรงกลายพันธุ์” ที่มี 4 พฤติกรรมไม่น่าไว้ใจพร้อมเตือนภัย!!หากมีการใช้คำว่า “ลงทุนลงหุ้น” ก็สามารถการันตีได้เลยว่า ไม่ใช่ขายตรงแน่นอนและเข้าข่ายเป็น “แชร์ลูกโซ่” อย่างไม่ต้องสงสัย
อีกทั้งยอมรับด้วยว่า ระหว่างความเป็น “ธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่” จะมีจุดเส้นแบ่งบางๆจึงทำให้ต้องตรวจสอบโดยละเอียดอย่างมากในกรณีที่มีการยื่นขอจดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงซึ่งถ้ามีเจตนาทำธุรกิจจริงก็จะผ่านได้ง่ายและที่สำคัญเรื่องของแผนการตลาดต้องไม่จ่ายผลตอบแทนที่สูงเกินจริง “…ที่ผ่านมาเคยเจอเคสประหลาดที่นำเอาบ้านเลี้ยงควายมาใช้ยื่นจดทะเบียนขอทำธุรกิจขายตรง รวมทั้งยังเจอกรณีที่หลายๆบริษัทมีการจ้างนายหน้าให้มาจดทะเบียนโดยถูกเรียกค่านายหน้า 3 แสนบาท ซึ่งเราได้ล่อจับไปเรียบร้อยแล้วและขอย้ำชัดๆเลยว่า การยื่นขอจดทะเบียนขายตรงกับ สคบ.ไม่ต้องใช้นายหน้าให้เสียเงิน…” พันตำรวจเอกประทีป กล่าว
โดยปัจจุบันมียอดจดทะเบียนขายตรง 1,414 บริษัท และได้ถูกเพิกถอนออกไปเหลือ 1,196 บริษัท รวมทั้งมีตัวเลขการยื่นขอจดทะเบียนทำขายตรงเพิ่มเดือนละประมาณ 10 บริษัท
ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. ได้กล่าวต่อไปถึงการทำธุรกิจขายตรงในส่วนของ “ผู้นำแม่ทีม” ซึ่งต้องดูแลให้อยู่ในกรอบจรรยาบรรณที่ดีเพราะหากปล่อยให้มีผู้นำแม่ทีมที่ไม่ดีก็จะก่อให้ เกิดการหลอกลวงฉ้อโกงและนำไปสู่การเป็นแชร์ลูกโซ่ได้ในที่สุด ดังนั้นในแง่กฎหมายจึงได้กำหนดให้มีมาตราโทษสำหรับ “ผู้นำแม่ทีม” เพิ่มขึ้นมาจากเดิมส่วนใหญ่ทำเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ แต่กับยุคนี้สามารถดำเนินคดีไปถึงตัว“ผู้นำแม่ทีม” ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามที่ก่อให้เกิดการระดมทุนจะโดนดำเนินคดีทั้งหมดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
นอกจากนี้ยังให้รายละเอียดที่ควรนำมาพิจารณาเตือนภัย “ขายตรงกลายพันธุ์” ด้วยว่าส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจตามลักษณะ ดังนี้ 1. สวมหัว (Take Over) 2.จดทะเบียนบังหน้า (มีการระดมทุน ระดมสมาชิก) 3.บังคับเป็นสมาชิกสมบูรณ์ (เมื่อซื้อสินค้าก็จะบังคับซื้อ-ขาย) 4.กึ่งบังคับ คือ ขายพ่วงสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือสินค้าไม่มีความจำเป็นใช้ (โดยบังคับต้องซื้อสินค้าเป็นแพ็คเกจ) และยิ่งถ้ามีการใช้คำว่า ลงทุนลงหุ้น นี่ก็การันตีได้เลยว่า ไม่ใช่ขายตรงและเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่อย่างแน่นอน “พวกแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่จะสร้างความเสียหายในวงกว้างอย่างมากอย่างในอดีตกับแชร์น้ำมันแม่ชม้อยก็มีผู้เสียหายเป็นหมื่นราย ด้วยมูลค่าความเสียหายสูงถึง 4,500 ล้านบาท หรืออย่างที่ผ่านมากับแชร์ท่องเที่ยวโชกุนก็ได้เริ่มจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2560 เพียงเวลาไม่นานในการระดมทุนก็สามารถสร้างความเสียหายได้เกือบ100 ล้านบาท”
“พันตำรวจเอกประทีป” กล่าวก่อนให้วิธีป้องกันภัยจากแชร์ลูกโซ่ที่ได้ผลดีสุด คือ “อย่าโลภ” และ อย่ารีบตัดสินใจ โดยให้ตั้งคำถามหลายๆข้อแล้วค่อยๆแสวงหาคำตอบให้กระจ่าง, ตรวจสอบประวัติความเป็นมาหรือ โปรไฟล์ (Profile) ของผู้ประกอบการ, รวบรวมเอกสารโบว์ชัวร์ ใบเสร็จ หรือข้อความแชตต่างๆไว้เป็นหลักฐาน เป็นต้น
ขณะที่ พันตำรวจเอกทีนัฐกร วัฒนแสงประเสริฐ ผู้กำกับการงานสวบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ซึ่งดูแลธุรกิจขายตรงและดูแลในส่วนผลิตภัณฑ์สินค้าว่าได้มาตรฐานหรือไม่หรือมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)หรือได้รับเครื่องหมาย อย.จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือไม่นั้นได้กล่าวถึงคดีแชร์ลูกโซ่คดีดังที่ ปคบ.ได้เข้าไปดำเนินการจัดการ นั่นก็คือ คดีแชร์ยูฟัน ซึ่งเสร็จสิ้นไปส่วนหนึ่งแล้วและยังต้องเตือนภัยเรื่องการลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลไม่ว่าจะเป็น วันคอยน์(OneCoin), บิทคอยน์ (Bitcoin) รวมถึงกองทุน forex ก็ตามก็ควรตระหนักให้ดีว่าแม้บางประเทศจะรับรองแต่สำหรับในไทยไม่รับรองทางกฎหมาย “ต้องยอมรับเลยว่าตลอดช่วงที่ผ่านมามีคนมาร้องเรียนแจ้งความเรื่องขายตรง และท่องเที่ยว เป็นจำนวนมาก ดังนั้นก็อยากเตือนใจคนทำขายตรงว่าอย่าขายโค้ง หรือขายด้วยความไม่ซื่อสัตย์ของคนทำทั้งแม่ทีมและผู้ประกอบการ เหมือนอย่างกรณีแชร์โชกุนก็นำท่องเที่ยวมาพ่วงขายตรงและเอาโปรไฟล์ดารามาหลอก แม้บางทริปจะพาไปเที่ยวได้จริงแต่ก็เป็นการเที่ยวแบบทุลักทุเล”
ส่วนทางด้าน สมาคมพัฒนาการขายตรงไทย (TSDA) ก็ได้ผลิตแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาใน “9 ข้อสังเกต แชร์ลูกโซ่ภัยร้ายของสังคม” ซึ่งประกอบด้วย 1.ไม่มีใบอนุญาตดำเนินธุรกิจจาก สคบ., 2. ไม่มีผลิตภัณฑ์ หรืออาจมีผลิตภัณฑ์บางรายการเพื่อบังหน้า โดยที่ไม่มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์จริงๆ , 3. เมื่อมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายในลักษณะบังหน้า ลักษณะของสินค้าจะเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ ราคาสูงเกินความเป็นจริง หรือสูงกว่าราคาของผลิตภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาดมากถึง 2-5 เท่าขึ้นไป, 4.ในบางครั้งผลิตภัณฑ์จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ โดยมักเป็นผลิตภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า หรือตราสารหนี้ หรือสร้างกองทุนเพื่อการลงทุนด้วยการสร้างมูลค่าเทียมที่มีการกำหนดราคาเองโดยไม่เป็นที่รับรองตามหลักสากล, 5. ไม่มีระบบการอบรมพัฒนาความรู้ของสมาชิกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ แต่มุ่งเน้นอบรมแนวทางเทคนิคการระดมทุนให้กับสมาชิก, 6. มีการชักชวนสมัครสมาชิกในลักษณะเชิญชวนให้มีการลงทุนในปริมาณสูงๆ โดยเน้นการนำเงินลงทุนของรายใหม่ มาจ่ายรายเก่า , 7. มีลักษณะการเชิญชวนสมัครสมาชิกได้หลายรหัสไม่จำกัด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการระดมเงินทุนสมาชิกรายเดิมได้หลายๆครั้ง , 8. แผนการปันผลตอบแทน เน้นการระดมเงินทุน จ่ายผลตอบแทนเร็วและสูงเกินกว่าความเป็นจริง ที่สำคัญไม่ได้รับอนุญาตจาก สคบ. และ 9. มีการการันตีการจ่ายผลตอบแทนที่แน่นอนจากการลงทุนในแต่ละหน่วยลงทุน
CR : http://www.thepowernetworknews.com/2017/10/04/โลภ-ไม่หยุดก็ยิ่งผุดแชร/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น