23 พฤษภาคม 2561

แชร์ลูกโซ่ใหม่กลายพันธุ์

แชร์ลูกโซ่ใหม่กลายพันธุ์











เชิญชวนลงทุนสกุลเงินดิจิตอล

ช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนวงการเครือข่ายขายตรงบ้านเรา จะมีเรื่องราวใต้ดินที่น่าสนใจ และกำลังเริ่มก่อหวอด สร้างความระทึกระลอกใหม่กับการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงไปยังกลุ่มโจรที่ชอบใช้อวิชชาทำมาหากิน อาศัยช่องว่างในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ คิดวิธีการไร้ศีลธรรมจ้องสูบเลือดสูบเนื้อผู้คน ด้วยกลโกงสารพัดรูปแบบ ชนิดแหวกมิติแห่งความชั่วร้าย สวมวิญญาณร่างแชร์ลูกโซ่สายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาปั่นกระแสสร้างวิมานกลางอากาศ หลอกชาวบ้านตาดำๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ให้ลุ่มหลงในผลประโยชน์ตอบแทน จนถลำลึกเข้าสู่วงจรอุบาทว์แบบไม่รู้ตัว

เส้นทางสายดำที่ถูกยั่วยวนด้วยอำนาจเงิน ส่งสัญญาณหวนกลับมากระหึ่มอีกครั้งตามพื้นที่ต่างจังหวัด ด้วยรูปแบบเดิมๆ แต่เพิ่มเติมคือช่วงจังหวะ อาศัยความยากที่ต้องการปลดพันธนาการความจนของผู้คน ที่กำลังเมาหมัดจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ เข้าคลุกวงในแฝงกายแทรกซึมไปตามองค์กรต่างๆ งัดวิชามารสุดล้ำลึก ชักจูงคนในพื้นที่ให้เข้าร่วมธุรกิจในรูปแบบโครงการต่างๆ ที่ปั้นน้ำขึ้นมา เพื่อเป็นฉากบังหน้าล่าผลประโยชน์เข้าตัว

ทั้งนี้รูปแบบการทำงานจะเคลื่อนไหวตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนอย่างเงียบๆ เพื่อลดกระแส ไม่ให้เป็นที่จับตามองของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมงัดมุขเก่าชนิดดั่งเดิม ที่ใช้ได้ผลตลอดมาปัดฝุ่นลงยันต์ ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันออกมา หากิน ปอกลอกชาวบ้านตาดำๆ ด้วยพลังโมติเวทแบบสุดมันส์ สอดแทรกคำพูดชนิดเร้าใจ ลงมากเท่าไหร่ ยิ่งได้กลับหลายเท่าตัว พร้อมยั่วน้ำลายด้วยวิธีการ แต่งตั้งหน้าม้าอุปโลกน์ โชว์เงินสด สร้างภาพลักษณ์ความมั่นใจต่อหน้าสาธารณชน รับของสมนาคุณกำไรคืนกลับมหาศาล บ้างก็เป็นทองคำ บ้างก็สินค้า แล้วแต่จังหวะและโอกาส เพื่อกระตุ้นบรรยากาศสร้างความโลภเข้าครอบงำ ผู้ร่วมงานให้ควักกระเป๋าลงเงิน ตามเรตราคาที่กำหนดไว้

ล่าสุด ดูเหมือนวิกฤติแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบ สกุลเงินดิจิตอลจะหวนกลับมาหลอกหลอนประชาชนให้ตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง หลังยูฟันด์สโตร์ได้สร้างความเสียหาย ทำลายประชาชนที่หลงเชื่อรูปแบบการลงทุนดังกล่าว จนมีมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาทไปแล้ว แต่เชื้อร้ายดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป เพราะยังมีสกุลเงินดิจิตอลใหม่ โผล่มาหลอกหลอน เดินตามรอยให้เห็นกันในปัจจุบัน

จากการสืบทราบมาว่า ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกิจเครือข่าย ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการลงทุนในแบบยูฟันด์ฯ ยังมีให้เห็น แต่จะเปลี่ยนการลงทุนจาก สกุลเงินยูโทเคน เป็นสกุลอื่น โดยอ้างอิงว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ของสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งได้รวบรวมเอาข้อดีของ สกุลเงินบิทคอยน์ ที่เป็นสกุลเงินดิจิตอลชื่อดังที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้มานำเสนอ

สำหรับพฤติกรรมของเครือข่ายดังกล่าว จะโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุน ในลักษณะมีการโน้มน้าวในรูปแบบ การชักชวนให้ประชาชนทั่วไปนำเงินมาลงทุนในจำนวนสูงพอสมควร และจะได้ผลตอบแทนกลับคืนเป็นหลัก โดยโฆษณาชักชวนวิธีการลงทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องขายสินค้า ไม่ต้องรักษายอด ไม่ใช่ธุรกิจขายตรง เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาให้ข้อมูลเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการกล่าวถึง อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการโดยเฉพาะการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีการโอนให้กันได้ ได้ โดยเป็นในรูปแบบที่เรียกว่า สกุลเงินดิจิตอล มีชื่อเรียกกันต่างๆ นาๆ อาทิ Bitcoin, Litecoin, Peercoin, Namecoin, Onecoin เป็นต้น

โดย ธปท.ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ดังนี้ 1. สกุลเงินดิจิตอล รวมไปถึงหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เกิดจากกลไกทางคอมพิวเตอร์ที่ถูกกำหนดไว้โดยคนกลุ่มหนึ่งที่มุ่งหวังจะใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากกลไกดังกล่าวจะถูกจัดเก็บเอาไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ และสามารถโอนให้กันได้ และต่อมาเริ่มมีการนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจว่าใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวซื้อขายสินค้าได้ รวมถึงมีการนำมาแลกเปลี่ยนกับเงินตราสกุลต่างๆ โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกันเองในกลุ่มคนที่มีระบบทางคอมพิวเตอร์รองรับการจัดเก็บและโอนหน่วยข้อมูลดังกล่าว

“ซึ่งสกุลเงินดิจิตอลและหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่ชาระหนี้ได้ตามกฎหมาย และไม่มีมูลค่าในตัวเอง มูลค่าของหน่วยข้อมูลดังกล่าวแปรผันไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขาย หน่วยข้อมูล มูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว”

สำหรับความเสี่ยงในการถือครองคือ จากลักษณะของหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มูลค่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เริ่มมีการถือเพื่อเก็งกำไร และมีธุรกิจที่เปิดให้บริการเป็นตลาดกลางให้ประชาชนสามารถเสนอราคาเพื่อซื้อขายหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์โดยแลกเปลี่ยนกับเงินจริง รวมถึงเริ่มมีร้านค้ารับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เห็นว่า มีการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายที่เกิดจากการถือครองหรือใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การปิดตัวลงไปก่อนหน้านี้ของบริษัทที่เป็นตลาดกลางแลกเปลี่ยนของสกุลเงินดิจิตอล Bitcoin ขนาดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยอ้างสาเหตุจากการถูกลักลอบโจรกรรมหน่วยข้อมูล ทำให้บริษัทต้องยื่นล้มละลายในที่สุด และมูลค่าหรือราคาของ Bitcoin ในช่วงนั้น ได้ลดลงอย่างมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนที่ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนกับบริษัทดังกล่าว และผู้ถือครอง Bitcoin ในช่วงนั้นต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก และธนาคารกลางในหลายประเทศได้เริ่มมีการแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้แล้ว

ดังนั้น ธปท.จึงได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไป ระมัดระวังศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการถือครองหรือใช้หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เนื่องจาก 1.หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย การใช้หน่วยข้อมูลดังกล่าวในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจึงอาจถูกปฏิเสธจากร้านค้าได้

2.มีความเสี่ยงจากการที่มูลค่าหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ผันแปรอย่างรวดเร็วเนื่องจากมูลค่าของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากความต้องการแลกเปลี่ยนในกลุ่มของผู้ใช้ด้วยกันมูลค่าจึงมีความผันผวนสูง และไม่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจจริง ผู้ถือครองหน่วยข้อมูลจึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินจากการที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว และหากร้านค้าใดรับหน่วยข้อมูลดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการของตน ก็อาจมีความเสี่ยงที่หน่วยข้อมูลที่ได้รับมาและถือไว้นั้นอาจมีมูลค่าหรือราคาลดต่ำลงได้ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วจากมูลค่าหรือราคาเดิม ณ ขณะที่ตนได้รับมา

3.มีความเสี่ยงจากการถูกขโมยข้อมูล เนื่องจากหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะต้องจัดเก็บไว้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ถือครองอาจสูญเสียหน่วยข้อมูลดังกล่าวได้จากการถูกลักลอบโจรกรรมข้อมูล

4.มีความเสี่ยงที่ผู้ใช้ไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่ได้เป็นสื่อการชำระเงินตามกฎหมาย ดังนั้น หากมีการใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงหรือฉ้อโกงหรือกรณีที่เกิดปัญหาในการใช้งาน เช่น การโอนไปยังผู้รับผิดคนหรือผิดจำนวน หรือโอนไปยังร้านค้าแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า การติดตามข้อมูลการโอนเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานอาจทำได้ยากหากต้องฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งต่างจากการโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์หรือผู้ให้บริการชำระเงินภายใต้การกำกับดูแลของทางการที่มีระบบติดตามได้

ด้าน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า การทำธุรกิจเครือข่ายในลักษณะการเชิญชวนให้ลงทุนในรูปแบบของสกุลเงินดิจิตอล ทาง DSI ได้จับตามองเป็นพิเศษ เพราะหวั่นจะเกิดปัญหาคล้ายคลึงกับกรณีของบริษัท ยูฟันด์ ที่กลายสภาพเป็นแชร์ลูกโซ่ จนสร้างมูลค่าความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท และการลงทุนในลักษณะนี้ ก็เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์เป็นแชร์ลูกโซ่ได้ง่ายเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแชร์ลูกโซ่ที่แฝงตัวเข้ามาในรูปแบบธุรกิจขายตรงจะมาจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในธุรกิจเป็นผู้กระทำการ ที่ผ่านมาทาง DSI ได้จัดทำทะเบียนแม่ทีมหรือผู้นำที่มีพฤติกรรมส่อที่จะก่อให้เกิดแชร์ลูกโซ่ โดยขณะนี้มีประมาณ 40 กว่าคน ที่ถูกขึ้นทะเบียน โดย DSI ได้จับตาดูความประพฤติอย่างใกล้ชิด หากมีพฤติกรรมที่จะส่อไปในทางหลอกลวงประชาชนหรือผู้บริโภค จะถูกเรียกตัวเข้ามาพบทันที

“ทางเราได้จับตาดูพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งบางรายเราได้เชิญตัวมาพูดคุยแล้ว ส่วนบางรายเรายังเฝ้าจับตาดูพฤติการณ์อยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ แยกพฤติการณ์หลักๆ ได้ไม่ยากมากนัก นอกจากบรรดาแม่ทีมและผู้นำแล้ว อีกกลุ่มที่ทาง DSI เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษนั่นคือกลุ่มที่มีพฤติการณ์ในการบรรยาย ที่มีทักษะทางด้านการพูด และโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อปลุกเร้าให้คนที่ร่วมฟังคำบรรยายร่วมธุรกิจ ซึ่งตามหลักแล้วก็มีความผิด โทษฐานร่วมกระทำความผิดฉ้อโกงประชาชนเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ปัญหาคดีแชร์ลูกโซ่ต้องยอมรับว่า ขบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลุ่มคน 3 กลุ่มที่สร้างความเสียหายอย่างแท้จริง โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ต้องหาที่มาหลอกจัดตั้งบริษัท ซึ่งอาจจะเป็นคนไทยหรือต่างประเทศร่วมมือกับคนไทย โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้หากสืบพบทาง DSI จะเร่งเข้าดำเนินการทันที และจะไม่ให้ก่อความเสียหายบานปลายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ส่วนกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 คือแม่ทีมและผู้เสียหาย ซึ่งตรงนี้ DSI อยากฝากเตือนเอาไว้ว่าหากท่านทั้งหลายที่เป็นแม่ทีมต้องตระหนักให้มากๆ และต้องใช้วิจารณญาณว่า ท่านเองต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อสมาชิกของตัวเอง โดยการเข้าถึงข้อมูลและทำความเข้าใจข้อมูลในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้มากๆ

อย่างไรก็ตาม ส่วนแนวทางการป้องกันของ DSI เกี่ยวกับคดีแชร์ลูกโซ่คือต้องมีการปราบปรามและกระทำอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด และประการสำคัญคือเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส ถึงจะสามารถขจัดภัยคุกคามตรงนี้ออกไปให้สิ้นซาก


CR  :  https://www.facebook.com/stopmoneygameth/posts/994139637337858

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น