14 มีนาคม 2561

โรคประสาทหูเสื่อม

โรคประสาทหูเสื่อม

การได้ยินของคนเรานั้น เสียงจะเคลื่อนที่จากหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นกลาง และเข้าสู่หูชั้นใน ซึ่งบริเวณหูชั้นในที่เป็นอวัยวะรูปก้นหอยจะประกอบด้วยเซลล์ขนที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณเสียงต่อไปให้เส้นใยประสาทส่งต่อไปยังสมองเพื่อแปลความหมายของเสียง หากเซลล์ขนเสียหายหรือชำรุดจากภาวะเสียงดังรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน เซลล์ขนจะไม่สามารถกลับทำหน้าที่เหมือนเดิมได้ และเกิดการร่วงหลุดได้ ทำให้สัญญาณเสียงเกิดการขาดช่วงในการเดินทางเข้าสู่การแปลผลของสมอง และเกิดการสูญเสียการได้ยิน หรือที่เรียกว่า โรคประสาทหูเสื่อม (Sensorineural Hearing Loss)





การเสียหายของเซลล์ขนจากการได้รับเสียงดังจะค่อยๆหลุดร่วงซึ่งจะใช้เวลานานกว่าอาการประสาทหูเสื่อมจะแสดงออกจึงทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนักกับการใส่ใจเรื่องหู และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียง





สาเหตุการสูญเสียการได้ยิน

1. จากการเสื่อมสภาพของอวัยวะ ได้แก่ การเสื่อมสภาพตามวัยของร่างกาย โดยพบมากในผู้สูงอายุ ลักษณะการสูญเสียการได้ยินแบบนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าตามวัย โดยจะเกิดกับหูทั้งสองข้างเท่ากัน และจะเกิดกับความถี่เสียงสูงก่อนค่อยๆเกิดกับความถี่เสียงต่ำ

2. ภาวะความผิดปกติจากพันธุกรรม โดยมักพบประวัติการผิดปกติของการได้ยินในเครือญาติของผู้ป่วย อาการของโรคจะเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย ลักษณะการสูญเสียการได้ยินจะเป็นแบบสื่อกระแสไฟฟ้าสูญเสียการได้ยินปกติ (Conductive) แบบผิดปกติทางประสาท และการได้ยิน (sensor neural) หรือแบบผสม (mixed) นอกจากนี้อาจพบความผิดปกติของอวัยวะอื่นร่วมด้วยในกลุ่มของโรค เช่น โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otoosclerosis)

3. การติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meninggitis) หรือสมองอักเสบ (Encephalitis) และอาจติดเชื้อจากแบคทีเรีย และไวรัสก็ได้ นอกจากนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติของโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ โรคไตวาย โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะไขมัน และคอลเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้จะก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบไบลาเตอรอล โปรเกรสซีบ (Bilateral Progressive) ในช่งระดับเสียงความถี่สูง

การสูญเสียการได้ยินแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. การสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว (temporary threshold shift: TTS) คือ อาการหูตึงที่เกิดจากการสัมผัสกับเสียงดังในระยะเวลานานพอจนทำให้เกิดอาการ หูตึงชั่วขณะ ซึ่งจะเกิดประมาณ 2-3 ชั่วโมง และจะหายเป็นปกติเมื่อไม่ได้สัมผัสกับแหล่งเสียงดัง

2. การสูญเสียการได้ยินแบบถาวร (permanent threshold shift: PTS) คือ อาการหูตึงที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานานพอหรือต่อเนื่อง เป็นประจำ อาการหูตึงนี้จะยังคงอยู่ไม่หายเป็นปกติถึงแม้จะหยุดสัมผัสกับเสียงดังแล้ว ก็ตาม นอกจากนี้ อาการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรอาจเกิดร่วมกับแก้วหูทะลุจากการสัมผัสเสียงดัง มากกว่า 140 เดซิเบล เอ

นอกจากนั้น สัมผัสกับเสียงดังมากในระยะเวลาอันสั้น เช่น เสียงระเบิด เสียงปืนใหญ่ เป็นต้นจะทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน สิ่งที่มักตามมาคือการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรจากอวัยวะเยื่อแก้วหูถูกทำลาย

การสูญเสียการได้ยิน แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เมื่อหูสัมผัสกับเสียงดังจะมีความรู้สึกดังก้องในรูหู ทั้งขณะสัมผัสกับแหล่งเสียง และไม่ได้สัมผัสกับแหล่งเสียงแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะ 10-20 วันแรก นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหัว เวียนศรีษะ ร่างกายอ่อนเพลียตามมา

ระยะที่ 2 เกิดในช่วง 2-3 เดือน หลังการสัมผัสเสียงดังมานานหรือติดต่อกัน ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกกับอาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของเสียงเหมือนในระยะแรก หากเมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจสมรรถนะการได้ยินจะพบว่าความสามารถการได้ยิน และตอบสนองต่อเสียงลดลง

ระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกไม่ได้ยินเสียงเหมือนปกติ เช่น เสียงดังมากจะรู้สึกเหมือนเสียงดังธรรมดา เสียงดังค่อย เช่น เสียงนาฬิกาเดินจะไม่ได้ยินเสียง หรือเสียงที่เคยรับฟังในปกติจะรู้สึกดังค่อยต้องเพิ่มระดับเสียงเพิ่มขึ้น ซึ่งคนปกติจะรู้สึกว่ามีเสียงดัง

ระยะที่ 4 เป็นระยะของการสูญเสียการได้ยิน หากมีการสนทนาจะพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถรับฟังเสียงการสนทนาได้เหมือนปกติ ต้องใช้การพูดข้างหูหรือต้องใช้เสียงดังจึงจะสามารถจับใจความได้

การป้องกัน

1. การป้องกันที่แหล่งเสียง

– ปรับเปลี่ยนวัสดุ อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง

– ใส่น้ำยาหล่อลื่นสำหรับอุปกรณ์ที่มีการกระทบกระแทกตลอดเวลา

2. การป้องกันที่ทางผ่าน

– ใช้ผนังหรือกำแพงกั้นแหล่งกำเนิดเสียง

– ใช้วัสดุครอบอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงดัง


วิดีโอ YouTube

https://youtu.be/jH3CBiRHxW8


3. การป้องกันที่บุคคล

– การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากเสียง เมื่ออยู่ใกล้แหล่งกำเนิดเสียง

– การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของเสียง และหลักการปฏิบัติเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง

– ลดระยะเวลาในการสัมผัสกับเสียงหรือเว้นช่วงการสัมผัสเสียง เช่น การอยู่ในสถานที่หรือการทำงานที่ไม่ต้องสัมผัสเสียง

– ทำการตรวจสมรรถนะการได้ยินทุกปีอย่างน้อยปีละครั้ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีเสียงดังหรือต้องสัมผัสกับเสียงดังอยู่เสมอ

ที่มา  ::  เว็บไซต์  thaihealthlife.com

บทความที่เกี่ยวข้อง


หูตึง หูหนวก หูดับ อาการ สาเหตุ และการรักษาภาวะหูตึงหูหนวก 10 วิธี !!


หูตึง หูหนวก

หูตึง หูหนวก หูดับ หรือ การสูญเสียการได้ยิน (Hearing loss, Hearing impairment, Deaf หรือ Deafness) หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการได้ยิน/รับเสียงลดลง ซึ่งอาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ยินเลยก็ได้ (หูหนวกสนิท) โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมักเกิดจาก ประสาทหูเสื่อมตามวัย ความผิดปกติแต่กำเนิด การได้ยินเสียงดังมากกว่าปกติเป็นเวลานาน การได้รับบาดเจ็บบริเวณหู ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะแบบฉีด) เป็นต้น
กลไกการได้ยินปกติจะประกอบไปด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน โดยหูชั้นนอกจะที่ทำหน้าที่รวบรวมเสียงจากภายนอกเข้าสู่ช่องหูและส่งผ่านไปยังหูชั้นกลาง ส่วนหูชั้นกลางจะมีหน้าที่รับพลังงานเสียงที่ส่งผ่านมาจากหูชั้นนอก ทำให้เยื่อแก้วหูและกระดูกหู 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน เกิดการสั่นสะเทือนตามคลื่นเสียง และหูชั้นในจะรับการสั่นสะเทือนที่ส่งผ่านมาจากหูชั้นกลางนั้นมายังคอเคลีย (Cochlea) ที่มีตัวรับสัญญาณเสียงเป็นเซลล์ขนขนาดเล็ก (Hair cell) ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า (Electronic impulses) แล้วสัญญาณไฟฟ้านี้จะส่งต่อไปยังเส้นประสาทรับเสียงและสมอง เพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน

ประเภทของการสูญเสียการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
  1. การสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss) มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง (แต่ประสาทหูยังดีอยู่) ทำให้มีความผิดปกติในการส่งผ่านคลื่นเสียงไปยังส่วนของหูชั้นใน สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด (โดยปกติคลื่นเสียงจากภายนอกเมื่อผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบกับเยื่อแก้วหู แล้วมีการส่งต่อและขยายเสียงไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป) โดยสาเหตุมักเกิดจาก
    • เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum) ผู้ป่วยจะมีอาการหูตึงเกิดขึ้นในทันทีภายหลังการได้รับบาดเจ็บ
    • ขี้หูอุดตัน (Cerumen impaction) ทำให้เกิดอาการหูตึงได้แบบชั่วคราว เมื่อเอาขี้หูออกก็สามารถกลับมาได้ยินเป็นปกติอีกครั้ง
    • หูชั้นกลางอักเสบหรือหูน้ำหนวก (Otitis media) ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้ผู้ป่วยหูหนวกได้
    • ภาวะมีน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง (Serous otitis media)
    • ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ (ท่อยูสเตเชียนเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก)
    • โรคหินปูนในหูชั้นกลาง (Otosclerosis) ทำให้กระดูกใหม่งอกขึ้นมา ซึ่งมักงอกขึ้นมายึดกระดูกโกลน ทำให้การสั่นของกระดูกผิดปกติและส่งผลให้เกิดอาการหูตึง โรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การรักษาต้องทำการผ่าตัดหรือใส่เครื่องช่วยฟัง
    • กระดูกหูชั้นกลางหักหรือหลุดจากอุบัติเหตุ เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูอื้อ หูตึงทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ การรักษาต้องอาศัยการผ่าตัด
    • สาเหตุอื่น ๆ เช่น หูพิการแต่กำเนิด สิ่งแปลกปลอมเข้าหูทำให้เกิดการอุดตันในช่องหู แก้วหูอักเสบ เยื่อแก้วหูหนา มีเลือดออกในหูชั้นกลาง ฯลฯ
  2. การสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง (Sensorineural hearing loss) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของส่วนหูชั้นใน ประสาทรับเสียง ไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่าง ๆ ความผิดปกติบริเวณนี้จะทำให้ได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดภาวะหูตึง หูหนวกถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และบางโรคอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยสาเหตุมักเกิดจาก
    • ประสาทหูเสื่อมตามวัย/หูตึงในผู้สูงอายุ (Presbycusis hearing loss) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด (80% มักเกิดจากสาเหตุนี้) มีสาเหตุมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในและเส้นประสาทหูค่อย ๆ เสื่อมไปตามอายุ โดยเฉพาะเซลล์ขนส่วนฐานของคอเคลียจะเสื่อมไปก่อน ทำให้สูญเสียการได้ยินช่วงเสียงแหลมเมื่ออายุมากขึ้น การเสื่อมนั้นจะลามไปถึงช่วงความถี่กลางสำหรับฟังเสียงพูด ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มหูตึง ฟังไม่ชัดเจนถึงระดับเสียงที่ดังขึ้น และมักบ่นว่าได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง นั่นเป็นเพราะเซลล์ขนแปลสัญญาณผิดเพี้ยนไป ทำให้สมองอ่านสัญญาณไม่ออก โดยมากผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุได้ประมาณ 60 ปีขึ้นไป ในผู้ชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าและมีความรุนแรงกว่าผู้หญิง การใส่เครื่องช่วยฟังจะช่วยให้ได้ยินได้
    • ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (Acoustic trauma) เป็นการเสื่อมของเส้นประสาทหูที่เกิดจากการได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้น ๆ หรือได้ยินเพียงครั้งเดียว เช่น การได้ยินเสียงฟ้าผ่า เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงประทัด เป็นต้น
    • ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (Noise-induced hearing loss) จากการได้ยินเสียงดังระดับปานกลางหรือดังเกิน 85 เดซิเบลขึ้นไปเป็นเวลานาน ๆ (เสียงสนทนาปกติจะดังประมาณ 60 เดซิเบล และเสียงจากเครื่องเจาะถนนจะดังประมาณ 120 เดซิเบล) เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงาน, ทหาร/ตำรวจที่ต้องฝึกซ้อมการยิงปืนเป็นประจำ, เสียงดังจากเครื่องจักรหรือยวดยานพาหนะต่าง ๆ, เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีที่ดังเกินควรที่ฟังผ่านหูฟัง, เสียงในงานคอนเสิร์ตที่ดังมาก ๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเสียงความถี่สูง ๆ (เสียงสูง) มักทำให้เกิดอาการหูตึงได้ เนื่องจากเซลล์ประสาทหูถูกคลื่นเสียงทำลายไปอย่างถาวรและไม่มีทางแก้ไขให้กลับคืนมาดีได้เหมือนเดิม ผู้ป่วยมักจะมีอาการเริ่มจากการได้ยินเสียงสูง (เช่น เสียงกระดิ่ง) สู้เสียงต่ำ (เช่น เสียงเคาะประตู) ไม่ได้ ถ้ายังอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเช่นเดิม อาการหูตึงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นหูหนวกได้ แต่ถ้าเลิกอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง ๆ อาการหูตึงก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง
    • ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด เช่น การขาดออกซิเจนขณะอยู่ในครรภ์หรือระหว่างคลอด, การติดเชื้อแต่กำเนิดหรือหลังคลอด เช่น ซิฟิลิส หัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ (มักเกิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายประสาทหูทารกในครรภ์ ในรายที่หูหนวกแต่กำเนิด หากไม่ได้รับการรักษาฟื้นฟูเด็กมักจะใบ้ร่วมด้วย)
    • หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis)
    • โรคเมเนียส์/น้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière’s disease) ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและอาจหายเองได้ แต่มีส่วนน้อยที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูตึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหูหนวกสนิทได้ ส่วนการรักษา แพทย์จะทำการรักษาด้วยยา ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องทำการผ่าตัด
    • โรคเนื้องอกประสาทหู (Acoustic neuroma) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหูตึงขึ้นทีละน้อยหรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันก็ได้
    • โรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งในระยะท้ายของโรคหรือระยะแฝงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป กระดูกผุ
    • การได้รับอุบัติเหตุของหูชั้นใน ซึ่งอาจเกิดจากการถูกตบตี การได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณกกหูหรือถูกตบตีบริเวณด้านหลังศีรษะ ทำให้กระดูกหูชั้นในแตกร้าวและส่งผลให้เกิดอาการหูตึงชนิดประสาทหูเสื่อมในระดับเล็กน้อยถึงหูหนวกได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุและลักษณะการแตกร้าวของกระดูก
    • การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน
    • การมีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (Perilymphatic fistula)
    • การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู (Ototoxic drug) เป็นระยะเวลานาน เช่น ซาลิไซเลต (Salicylate), อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ควินิน (Quinine), แอสไพริน (Aspirin), สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), กานามัยซิน (Kanamycin), เจนตามัยซิน (Gentamicin), โทบรามัยซิน (Tobramycin) เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นกับหูทั้งสองข้าง อาการจะเป็นทีละน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยาบางชนิดจะทำให้มีอาการเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดยาแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือคงเดิมได้ แต่ยาบางชนิดก็ทำให้มีอาการถาวร รักษาไม่หาย
    • สาเหตุทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคหูตึงจากกรรมพันธุ์
    • สาเหตุจากโรคทางกาย เช่น โรคโลหิตจาง, โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ, โรคเบาหวาน, โรคไต เป็นต้น
    • สาเหตุที่เกิดในสมอง (Central hearing impairment) ทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียง แต่ไม่สามารถแปลความหมายได้ จึงไม่สามารถเข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยินและไม่สามารถตอบโต้กลับไปได้ เช่น โรคของเส้นเลือด (เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน), โรคความดันโลหิตสูง, เลือดออกในสมองจากไขมันในเลือดสูง, โรคเนื้องอกในสมอง (เนื้องอกของประสาทหู และ/หรือประสาทการทรงตัว)
  3. การสูญเสียการได้ยินชนิดการรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed hearing loss) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติในการนำเสียงบกพร่องร่วมกับประสาทรับเสียงบกพร่อง ซึ่งพบในโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ร่วมกับความผิดปกติของหูชั้นใน โรคที่พบ เช่น
    • โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังที่ลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน
    • โรคในหูชั้นกลางของผู้สูงอายุที่มีปัญหาประสาทรับเสียงเสื่อมด้วย
    • โรคหินปูนเกาะกระดูกโกลนและมีพยาธิสภาพในหูชั้นในร่วมด้วย (Cochlear otosclerosis)
อย่างไรก็ตาม มีผู้สูญเสียสมรรถภาพของการได้ยินจำนวนไม่น้อยที่แพทย์อาจตรวจไม่พบสาเหตุก็ได้
การสูญเสียการได้ยินIMAGE SOURCE : audiology.nmsu.edu


อาการหูตึงหูหนวก


ผู้ป่วยจะมีอาการที่การได้ยินลดลงจนถึงไม่ได้ยินเลยก็ได้ โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นกับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นคนที่หูตึงข้างเดียวจะมีปัญหาในการฟังและลำบากในการหาทิศทางของเสียง ส่วนคนที่หูตึงทั้งสองข้างจะมีปัญหาทางการได้ยินในระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินว่าเป็นมากน้อยเพียงใด เช่น ถ้าหูตึงน้อยจะไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ หรือเสียงกระซิบ หูตึงปานกลางจะไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ หูตึงมากจะไม่ได้ยินเสียงพูดดัง ๆ หูตึงรุนแรงจะได้ยินเสียงตะโกนเพียงเล็กน้อย แต่ได้ยินไม่ชัด แต่ถ้าหูหนวก การตะโกนก็ไม่ช่วยทำให้ได้ยินเสียงแต่อย่างใด

นอกจากนี้ อาการหูตึงหูหนวกอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เวียนศีรษะ มีสารคัดหลั่งจากหู เป็นใบ้

ทราบได้อย่างไรว่าหูตึงหูหนวก ?


เดซิเบล” (decibel – dB) เป็นหน่วยวัดระดับความดังของเสียง ค่าเดซิเบลจะเพิ่มขึ้นตามเสียงที่ดังมากขึ้น ในคนที่การได้ยินปกติจะได้ยินเสียงในระดับ 25 เดซิเบลหรือเบากว่านั้นได้ แต่ในคนหูตึงจะไม่ได้ยินเสียงที่เบากว่าระดับ 25 เดซิเบล

ระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยิน

ระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินสามารถแบ่งออกได้เป็น หูตึงน้อย หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง และหูหนวก
ระดับการได้ยินระดับความผิดปกติลักษณะอาการ
-10-25 dBการได้ยินปกติได้ยินเสียงพูดกระซิบเบา ๆ
26-40 dBหูตึงน้อยไม่ได้ยินเสียงพูดเบา ๆ แต่ได้ยินเสียงพูดปกติ และอาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังบางโอกาส เช่น ตอนเรียนหนังสือ
41-55 dBหูตึงปานกลางไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ ต้องพูดดังกว่าปกติจึงจะได้ยิน และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังขณะพูดคุย
56-70 dBหูตึงมากไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก และจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังตลอดเวลา
71-90 dBหูตึงรุนแรงต้องตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงจึงจะได้ยิน แต่ได้ยินไม่ชัด
มากกว่า 90 dBหูหนวกการตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยินและเข้าใจความหมาย
แม้การสังเกตข้างต้นอาจบอกจะพอบอกได้คร่าว ๆ ว่า เรามีภาวะหูตึงหรือหูหนวกหรือไม่เพียงใด แต่การประเมินระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยินที่แน่นอนกว่านั้นจะต้องใช้เครื่องตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อวัดระดับการได้ยินเสียงบริสุทธิ์ในแต่ละความถี่

วิธีการสังเกตอาการหูตึงด้วยตนเอง

เราสามารถสังเกตว่ามีภาวะหูตึงหรือไม่ด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ
  1. ฟังเสียงกระซิบหรือเสียงถูนิ้วระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ใกล้ใบหู ซึ่งปกติเสียงกระซิบจะได้ยินดังประมาณ 30 เดซิเบล แต่ถ้าไม่ได้ยินให้สงสัยว่าอาจมีปัญหาการได้ยิน
  2. ไปตรวจวัดสมรรถภาพการได้ยินที่โรงพยาบาล ซึ่งการตรวจจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ผู้ตรวจจะให้เราฟังเสียงพูดหรือเสียงบริสุทธิ์ที่ความถี่ต่าง ๆ ผ่านทางหูฟัง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษผ่านทางกระดูก ก็จะทำให้ทราบผลได้ทันทีภายหลังการตรวจ
หูไม่ได้ยินIMAGE SOURCE : www.ezyhealth.com

การวินิจฉัยหูตึงหูหนวก

  • แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับการสูญเสียการได้ยินและสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ที่อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระยะเวลาที่เริ่มเกิดอาการหูอื้อ หูตึง, ลักษณะอาการที่เป็นเกิดขึ้นทันทีหรือเป็น ๆ หาย ๆ หรือค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ, ประวัติการได้ยินเสียงดัง เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงพลุ เป็นต้น, การมีอาการทางหูและอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเสียงรบกวนในหู เวียนศีรษะ มีอาการชาใบหน้า เดินเซ เป็นต้น, ประวัติการใช้ยาและโรคประจำตัว, ประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคหูตึง
  • แพทย์จะทำการตรวจหูอย่างละเอียด ทั้งหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหูของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจมูกและคอ นอกจากนั้นก็จะตรวจระบบประสาท เส้นประสาทสมองต่าง ๆ
  • การตรวจพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อยืนยันและประเมินระดับความผิดปกติของการสูญเสียการได้ยิน, การตรวจวัดสมรรถภาพของหูชั้นกลาง (Tympanogram), การตรวจดูคลื่นของเส้นประสาทรับเสียงและก้านสมอง (Evoke auditory response) ในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทรับเสียง
  • ถ้ายังไม่พบสาเหตุหรือในรายที่แพทย์สงสัยว่าจะมีเนื้องอก อาจจำเป็นต้องทำการตรวจเอกซเรย์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (CT/MRI)
  • นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือด เบาหวาน โรคไต ไขมัน คอเรสเตอรอล ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เชื้อซิฟิลิสหรือภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฯลฯ

การรักษาหูตึงหูหนวก

แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ ซึ่งแบ่งเป็นการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด
  • เมื่อมีอาการหูตึงหูหนวกเกิดขึ้นหรือเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์หูคอจมูกที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะบางสาเหตุอาจรักษาให้หายและหูกลับมาได้ยินเป็นปกติได้
  • ถ้าหูตึงไม่มาก ยังพอได้ยินเสียง และไม่รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมากนัก คือ ยังพอสื่อสารกับผู้อื่นได้อยู่หรือเป็นกับหูเพียงข้างเดียว แต่อีกข้างยังดีอยู่ อาจไม่ต้องรักษา เพียงแต่ต้องทำใจยอมรับ

  • ถ้าหูตึงมาก ไม่ค่อยได้ยินเสียง โดยเฉพาะในรายที่เป็นกับหูทั้ง 2 ข้าง และรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ และเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ควรฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง
  • ถ้าหูตึงเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย ควรป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงเสียงดัง, รักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ดี (เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด โรคไต), หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู, ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู, หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหูหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน, ลดอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงการสูบบุหรี่), ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น
  • ส่วนใหญ่ที่สูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่องจากโรคของหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง เช่น เยื่อแก้วหูทะลุ ภาวะน้ำขังในหูชั้นกลาง ช่องหูตีบตัน กระดูกหูผิดรูปหรือเลื่อนหลุด และโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดแก้ไขให้ได้ยินดีขึ้นได้ (ยาที่อาจทำให้การได้ยินดีขึ้นบ้าง คือ ยาขยายหลอดเลือดที่ช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น และยาบำรุงประสาทหู)
  • ในรายที่ประสาทหูเสื่อมหรือเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาจจะต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง ในรายที่มาพบแพทย์ช้า การรักษามักจะไม่ค่อยได้ผลดี และส่วนใหญ่จะรักษาไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง
  • ในรายที่ประสาทหูเสื่อมแบบเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีโอกาสรักษาให้คืนกลับสู่ปกติได้ในช่วงเดือนแรก ๆ แต่หากยังไม่ฟื้นคืนภายใน 3 เดือนแรก ก็จะมีโอกาสน้อยมากที่จะหายเป็นปกติ ในผู้ที่มีประสาทหูเสื่อมเกิน 6 เดือน ควรพิจารณาใช้เครื่องช่วยฟัง
  • สำหรับเครื่องช่วยฟังจะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดและมีกลไกการทำงานที่ต่างกันไป (ปัจจุบันในประเทศมีให้เลือกใช้เพียง 2 ชนิดแรก) เช่น
    1. เครื่องช่วยฟังแบบใส่ในช่องหู (Conventional hearing aids) เป็นเครื่องช่วยขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยเสียงจะเดินทางผ่านอวัยวะรับการได้ยินตามเส้นทางการเดินของคลื่นเสียงปกติเครื่องช่วยฟังIMAGE SOURCE : hearingaidbuyertoday.com, www.zazbot.com
    2. ประสาทหูเทียม (Cochlear implant) เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำด้วยสายไฟฟ้าเล็ก ๆ ที่มีการรับเสียงและแปรเสียง แล้วส่งสัญญาณเข้าไปกระตุ้นประสาทการได้ยินเข้าไปที่สมอง ทำให้สามารถแปลเสียงนั้นออกมาได้ โดยประสาทหูเทียมจะถูกฝังเข้าไปในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในหูชั้นในโดยการผ่าตัดหลังหูกรอเอากระดูกหลังหูออกและทำการฝังเครื่องเอาไว้ที่หลังหูด้านนอกกะโหลกศีรษะ แล้วต่อกับเครื่องภายนอกด้วยระบบแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้กระตุ้นเสียงเข้าไปข้างใน (มักใช้ในรายที่ประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรงที่เรียกว่า หูหนวกหรือหูเกือบหนวก เพราะการใส่เครื่องช่วยฟังมักไม่ได้ผล)ประสาทหูเทียมIMAGE SOURCE : cias.rit.edu, wexnermedical.osu.edu
    3. เครื่องช่วยฟังชนิดฝังที่กะโหลกศีรษะ (Bone-anchored hearing aid – BAHA) สัญญาณเสียงจะทำให้เครื่องสั่นเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้หูชั้นในซึ่งอยู่ในกะโหลกศีรษะส่งสัญญาณกระตุ้นเส้นประสาทรับเสียงต่อไป
    4. เครื่องช่วยฟังชนิดฝังที่หูชั้นกลาง (Middle ear implantable device) จะแปลงสัญญาณเสียง ทำให้ชิ้นส่วนของเครื่องซึ่งฝังติดอยู่กับกระดูกหูขยับและส่งต่อสัญญาณเข้าหูชั้นในสู่เส้นประสาทรับเสียงและสมองตามลำดับ
    5. เครื่องช่วยฟังชนิดฝังที่ก้านสมอง (Auditory brain stem implant) จะกระตุ้นส่วนรับการได้ยินบนก้านสมอง จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังสมองให้รับว่าได้ยินเสียง
ทั้งนี้ยังไม่มียาที่ช่วยแก้ไขการเสื่อมการได้ยินทั้งการนำเสียงและประสาทรับเสียงบกพร่องเพื่อให้การได้ยินกลับคืนมาได้ทั้งหมด การใช้ยาเพื่อรักษาโรคจากการติดเชื้อโรคตามระบบ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น เสียงดัง การใช้ยาที่มีพิษต่อหู จะเป็นเพียงการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหูหนวกหูตึงขึ้นเท่านั้น

วิธีป้องกันหูตึงหูหนวก

การป้องกันโดยทั่วไป คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำลายหู ได้แก่
  • การหลีกเลี่ยงได้ยินเสียงดังมาก ๆ หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องได้ยินเสียงดัง ๆ เป็นเวลานาน ๆ ควรสวมเครื่องป้องกันในขณะที่อยู่ในที่ทำงาน ไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบการได้ยินเป็นระยะ ๆ และหากเริ่มมีอาการหูตึงเกิดขึ้น ควรเลิกทำงานในสถานที่เดิมและย้ายไปทำงานในสถานที่ที่ไม่มีเสียงดังแทน
  • การหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาใด ๆ มาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าได้รับยาจากแพทย์แล้วมีอาการหูตึงควรรีบกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อที่แพทย์จะได้ปรับยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “หูตึง/หูหนวก (Hearing loss/Deafness)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 924-925.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูไม่ได้ยิน..จะให้ทำอย่างไร?”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [29 ธ.ค. 2016].
  3. ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “หูหนวก หูตึง รักษาได้”.  (ผศ.พญ.สุวิชา อิศราดิสัยกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [29 ธ.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “การสูญเสียการได้ยิน”.  (นพ.ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [30 ธ.ค. 2016].
  5. INTIMEX.  “หูตึงในผู้ใหญ่”.  (รศ.พ.อ.พงษ์เทพ หารชุมพล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.intimexhearing.com.  [30 ธ.ค. 2016].
6. เว็บไซต์เมดไทย 

15 วิธีรักษาโรคน้ําในหูไม่เท่ากัน (โรคเมเนียส์ – Ménière’s disease) !!


โรคเมเนียส์

โรคเมเนียส์โรคมีเนียร์ หรือ โรคเมนิแยร์ (Ménière’s disease – MD) หรือที่ทั่วไปมักเรียกกันว่า “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” หรือ “โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ” หรือบางครั้งก็เรียกกันสั้น ๆ ทางพยาธิวิทยาว่า “โรคน้ำในหู” (Endolymphatic hydrops) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ เป็นเหตุให้เสียความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัว (เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน) และการได้ยิน (เกิดอาการหูตึง แว่วเสียงดังในหู) ส่วนใหญ่มักเป็นกับหูเพียงข้างเดียว แต่อาจเป็นกับหูได้ทั้ง 2 ข้างประมาณ 10-15%[1] หรือประมาณ 30% ในบางรายงาน[

หูชั้นใน (Inner ear) ของคนเราจะมีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีน้ำในหูชั้นในอยู่ในปริมาณที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน และมีการไหลเวียนถ่ายเทเป็นปกติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำในหูขณะเคลื่อนไหวศีรษะ จะกระตุ้นเซลล์ประสาทดังกล่าวให้มีการส่งสัญญาณไปยังสมองเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู เช่น การดูดซึมของน้ำในหูไม่ดี ทำให้น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากกว่าปกติ (Endolymphatic hydrops) ก็จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน
โรคนี้เป็นโรคพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเป็นโรคที่พบได้เป็นอันดับ 2 ของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ[5] มักพบได้ในผู้คนอายุ 30-60 ปี[2] ทั้งเพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้พอ ๆ กัน[4] (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า โรคนี้พบได้น้อย มักพบในผู้ชายอายุประมาณ 40-60 ปี แต่อาจพบได้ในคนหนุ่มสาวด้วยเช่นกัน[1])
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันIMAGE SOURCE : www.hearinglink.org

สาเหตุของโรคเมเนียส์

ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัดว่า เหตุใดปริมาณของเหลวในหูชั้นใน (Endolymph) จึงเกิดมีมากกว่าปริมาณปกติขึ้นมาเป็นระยะ ๆ แล้วส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา (อาการของโรคเป็นผลมาจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นในที่มากผิดปกติ)
ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นหรือมีอาการกำเริบได้เมื่อมีปัจจัยเหล่านี้มากระตุ้น เช่น
  • การติดเชื้อไวรัส เช่น หูชั้นในอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซิฟิลิส ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
    โรคทางกาย เช่น โรคภูมิแพ้ โรคของหลอดเลือดในหู ปวดศีรษะไมเกรน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไทรอยด์
  • เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อน
  • ภาวะเครียดทางจิตใจ การอดหลับอดนอน ร่างกายเหนื่อยล้า การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาแอสไพริน)
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน รวมถึงการมีประจำเดือน
  • ความไม่สมดุลของน้ำและเกลือแร่
  • กรรมพันธุ์ ทำให้ผู้ป่วยมีโครงสร้างหูชั้นในผิดปกติมาแต่กำเนิด
  • บางครั้งอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุหรือมีปัจจัยดังกล่าวมากระตุ้น ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่
โรคน้ําในหูไม่เท่ากันIMAGE SOURCE : www.medical-institution.com

อาการของโรคเมเนียส์

  • อาการบ้านหมุน (เวียนศีรษะอย่างรุนแรง) ผู้ป่วยมักมีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด อยู่เฉย ๆ ก็เป็นขึ้นมา และแต่ละครั้งมักเป็นอยู่นานเกิน 20 นาทีขึ้นไปถึง 2 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่เกินครึ่งชั่วโมง แต่บางรายอาจเป็นเพียงครั้งละไม่กี่นาทีหรือเป็นนานหลายชั่วโมงก็ได้) แล้วหายไปได้เอง และอาการจะกำเริบได้อีกเป็นครั้งคราว เป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการทุกวัน หรือนาน ๆ เป็นทีก็ได้ โดยอาจทิ้งช่วงห่างกันเป็นสัปดาห์ ๆ หรือนานเป็นปี ซึ่งไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร และในแต่ละครั้งที่มีอาการอาจมีอาการมากหรือน้อยก็ได้ แต่จะไม่ทำให้ถึงกับหมดสติหรือเป็นอัมพาต ในบางครั้งที่เกิดอาการอาจทำให้ผู้ป่วยทรงตัวไม่อยู่หรือเซล้มลงได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก และอาจมีอาการตากระตุกร่วมกับอาการบ้านหมุนด้วย (อาการบ้านหมุนเป็นอาการหลักที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด เพราะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และต้องนอนพักเพียงอย่างเดียว)

  • ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง ในขณะที่มีอาการเวียนศีรษะ โดยเสียงที่ไม่ได้ยินมักเป็นเสียงต่ำ เช่น เสียงนาฬิกา เสียงกริ่งโทรศัพท์ เป็นต้น และหากเสียงสูงอาจจะทำให้เกิดอาการปวดหู (ทนเสียงดังไม่ได้) ซึ่งในระยะแรกของโรคอาจเป็น ๆ หาย ๆ การได้ยินมักดีขึ้นเมื่ออาการเวียนศีรษะหายไป แต่ถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง การได้ยินอาจเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหูตึงหรือหูหนวกได้ (ระยะแรกอาจเป็นเพียงข้างเดียว พอในระยะหลัง ๆ อาจมีอาการทั้งสองข้าง)
  • หูอื้อ แว่วเสียงดังในหู ซึ่งจะเกิดขึ้นในหูข้างที่ผิดปกติ มักเป็นพร้อมกับอาการบ้านหมุน อาจเป็นเฉพาะเวลาที่เวียนศีรษะหรืออาจเป็นอยู่ตลอดเวลาก็ได้
  • รู้สึกแน่นในหู ลักษณะหนัก ๆ หน่วง ๆ คล้ายกับมีแรงดันในหู (ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู และปวดศีรษะข้างที่เป็นร่วมด้วยได้)

การแบ่งระยะของโรคเมเนียส์

โรคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ (ความรุนแรงและระยะเวลาแต่ละระยะไม่แน่นอน) ได้แก่
  • ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนและอาเจียนเป็นอาการเด่น ส่วนการทำงานของหูยังปกติ
  • ระยะที่ 2 ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการครบทั้ง 4 อย่างดังที่กล่าวมา
  • ระยะที่ 3 ในระยะนี้ผู้ป่วยยังคงมีเสียงแว่วดังในหูแต่ไม่รุนแรง การได้ยินจะลดลงจนไม่สามารถได้ยินคำพูดได้ ส่วนอาการเวียนศีรษะจะลดลงทั้งความรุนแรงและความถี่ (อาการคลื่นไส้อาเจียนก็ลดลงด้วยเช่นกัน)
อาการน้ําในหูไม่เท่ากัน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเมเนียส์

  • ผู้ป่วยทั่วไปส่วนมากจะเป็นไม่รุนแรงและอาจหายได้เอง แต่มีส่วนน้อยอาจหูตึงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหูหนวกสนิทได้ (อาการบ้านหมุนมักหายไปภายหลังที่หูหนวกสนิทแล้ว) ซึ่งอาจเป็นเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเป็นคนชอบวิตกกังวลและเป็นไมเกรนร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยอาจประสบอุบัติเหตุได้ง่ายในขณะที่เกิดอาการบ้านหมุน

การวินิจฉัยโรคเมเนียส์

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด และการตรวจร่างกาย ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการดังกล่าว แพทย์ก็มักให้การวินิจฉัยได้ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยประมาณ 50% เท่านั้นที่มีอาการดังกล่าวเด่นชัด ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ชัดเจนก็จำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและแยกจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การซักประวัติอาการ เช่น ลักษณะอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาและความถี่ของอาการทางหู
  • การซักประวัติสุขภาพ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต, ประวัติโรคซิฟิลิส, ประวัติการผ่าตัดหู, โรคทางระบบประสาท, โรคภูมิแพ้, โรคภูมิคุ้มกัน, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไทรอยด์, โรคคางทูม, โรคการอักเสบของตา เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจหู คอ จมูก และระบบประสาท, การตรวจระบบสมดุลของร่างกาย, การตรวจดูการเคลื่อนไหวของลูกตาในท่าทางต่าง ๆ, การวัดความดันโลหิตในท่านอน ท่านั่ง และท่ายืน (เพื่อตรวจหาความดันเลือดต่ำในขณะเปลี่ยนท่า) เป็นต้น
  • การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry), การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Electronystagmography – ENG), การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน (Electrocochleography – ECOG) ถ้าตรวจออกมาได้ผลบวกจะค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคนี้, การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response – ABR), การเจาะเลือด (เพื่อหาภาวะซีด เลือดข้น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดมากผิดปกติ ระดับไขมันในเลือดสูง ระดับยูริกในเลือดสูง เบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่ต่ำเกินไป โรคไต โรคภูมิแพ้ตัวเอง การติดเชื้อซิฟิลิสหรือเอดส์ การทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ), การตรวจปัสสาวะ (เพื่อดูว่ามีโรคไตหรือไม่), การถ่ายภาพรังสีกระดูกคอ, การตรวจพิเศษทางรังสี (เฉพาะในรายที่สงสัยว่าอาจมีเนื้องอกของเส้นประสาทการทรงตัวหรือความผิดปกติทางสมอง เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)), การตรวจการไหลเวียนของเลือดผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปสู่สมอง โดยใช้อัลตราซาวนด์ (สามารถบอกแรงดันเลือด ความเร็วของการไหล และความไม่สมดุลของการไหลเวียนของเลือดได้), การตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ (EKG) เป็นต้น
อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่อาการดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดโรคเมเนียส์หรือน้ำในหูไม่เท่ากันเสมอไป เพราะอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น
  • โรคของหูชั้นนอก เช่น การอุดตันจากขี้หู เนื้องอก หนอง หรือการอักเสบจากหูชั้นนอก, กระดูกช่องหูหักจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
  • โรคของหูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (หูน้ำหนวก), เลือดคั่งในหูชั้นกลางจากอุบัติเหตุหรือการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ (Hemotympanum), ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ทำงานผิดปกติหรือมีการอุดตัน, มีการทะลุของเยื่อที่ผิดช่องทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน (Perilymphatic fistula) เป็นต้น
  • โรคของหูชั้นใน เช่น การติดเชื้อของหูชั้นใน (Labyrinthitis), การอักเสบของหูชั้นในจากสารพิษ (Toxic labyrinthitis), การบาดเจ็บที่ศีรษะทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน, การได้รับแรงกระแทกจนเกิดการบาดเจ็บจากเสียงหรือการผ่าตัดบริเวณหู, โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign paroxysmal positional vertigo – BPPV)
  • โรคของทางเดินประสาทและสมอง เช่น เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuronitis), เนื้องอกของประสาททรงตัว (Vestibular schwannoma), โรคของระบบประสาทกลาง, การเสื่อมของระบบประสาทกลางที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว, ความผิดปกติของกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงระบบประสาทกลางทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัวไม่พอ, การติดเชื้อของระบบประสาท เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ, โรคเลือด (มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดสูงผิดปกติ เลือดออกง่ายผิดปกติ ซีด), โรคหลอดเลือดแข็งและตีบจากโรคไขมันในเลือดสูง, ระดับยูริกในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตต่ำ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคภูมิแพ้, โรคกระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น
  • ไม่ทราบสาเหตุ

วิธีรักษาโรคเมเนียส์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป สำหรับผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเมเนียส์ การรักษาจะประกอบไปด้วยการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเกิดอาการบ้านหมุน การให้ยาบรรเทาอาการ การรักษาไปตามสาเหตุของโรค และการผ่าตัดในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้จากการใช้ยา
  • ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ (วิธีเหล่านี้อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบห่างขึ้นได้)
    1. เมื่อมีอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนในขณะเดิน ควรหยุดเดินและนั่งพัก เพราะการฝืนเดินต่อไปในขณะเวียนศีรษะ อาจทำให้ผู้ป่วยล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าเกิดอาการในขณะขับรถหรือทำงาน ควรหยุดรถที่ข้างทางหรือหยุดการทำงาน โดยเฉพาะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ถ้าวิงเวียนศีรษะมากให้นอนบนพื้นราบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น พื้น และผู้ป่วยควรมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ถ้าอาการเวียนศีรษะน้อยลงแล้ว ให้ค่อย ๆ ลุกขึ้น แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียได้ จึงแนะนำให้นอนหลับพักผ่อน ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
    2. รับประทานยาที่แพทย์ให้รับประทานเวลาเวียนศีรษะ
    3. ลดหรือจำกัดการรับประทานอาหารเค็มจัด เพราะความเค็มหรือเกลือโซเดียมที่มีปริมาณมากขึ้นในร่างกายจะทำให้มีน้ำคั่งในร่างกายและในหูชั้นในมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงได้
    4. พยายามอย่ารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำมากนัก (เพื่อลดปริมาณของเหลวในหูชั้นใน) จะได้มีโอกาสอาเจียนน้อยลง
    5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงที่หูชั้นใน
    6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่และถูกต้องตามหลักอนามัย
    7. ลดหรือหลีกเลี่ยงสารกาเฟอีน (จากการดื่มชา น้ำอัดลม กาแฟ และช็อกโกแลต) เครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด เพราะปัจจัยเหล่านี้จะทำให้อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แย่ลง เนื่องจากจะไปลดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน
    8. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างที่เกิดอาการวิงเวียน เช่น การก้ม เงยคอ หรือหันคออย่างเต็มที่, การหมุนศีรษะไว ๆ, การเปลี่ยนท่าทางหรืออิริยาบถอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
    9. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การเดินทางโดยเรือ, ความเครียดหรือความวิตกกังวล, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ (ถ้าแพ้) เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามาก ๆ ด้วย เช่น การทำงานติดต่อกันนาน ๆ หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม เนื่องจากอาการบ้านหมุนมักจะเป็นมากเวลาที่ร่างกายเหนื่อยล้าหรือมีภาวะเครียดทางจิตใจ แต่จะเป็นห่างขึ้นเมื่อสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและมีจิตใจไม่เครียด
    10. สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ เสียงดังมาก ๆ, การยืนในที่สูง, อุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู, การติดเชื้อของหูหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน, การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทการทรงตัว (เช่น แอสไพริน (Aspirin), อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside), ควินิน (Quinine) เป็นต้น)
    11. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเลือด โรคซีด โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง ควรรักษาและควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี
  • การให้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มากมักจะได้ผลดี คือ หายเวียนศีรษะและหูอื้อ การได้ยินฟื้นตัวดีขึ้น(80% จะหายได้ด้วยการให้ยา) ได้แก่
    • ถ้ามีอาการบ้านหมุนมาก แพทย์จะฉีดไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) หรืออะโทรปีน (Atropine) ให้ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้
    • ยาขับปัสสาวะเพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (Hydrochlorothiazide) 50-100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง
    • ยาขยายหลอดเลือด เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงระบบประสาททรงตัว ทำให้การไหลเวียนของน้ำในหูดีขึ้น เช่น เบตาฮีสทีน เมไซเลต (Betahistine mesilate), ซินนาริซีน (Cinnarizine) เป็นต้น
    • ยาลดอาการเวียนศีรษะ
    • ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
    • ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลและนอนหลับได้เป็นปกติ เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam)
  • การรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากซิฟิลิส แพทย์จะให้การรักษาแบบซิฟิลิส เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีอาการมากหากรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วยังควบคุมอาการเวียนศีรษะไม่ได้ อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อระบายน้ำที่คั่งอยู่ในหูชั้นในออก เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลาม และช่วยให้โรคหายขาด ซึ่งได้แก่
    • การทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยินและการทรงตัวในหูชั้นใน (Labyrinthectomy) มักทำในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินในหูข้างนั้นไปมากแล้ว แต่ยังมีอาการเวียนศีรษะอยู่มาก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยควบคุมอาการเวียนศีรษะได้ดี แต่ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินในข้างนั้นไปตลอด
    • การตัดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular neurectomy) มักทำในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมาก แต่ยังมีการได้ยินดีอยู่
    • การฉีดยาที่มีพิษต่อระบบประสาทหูและการทรงตัวเข้าไปในหูชั้นกลางเพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในหูชั้นใน เช่น เจนตามัยซิน (Gentamicin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Aminoglycoside เพื่อทำลายระบบประสาททรงตัว ทำให้มีอาการเวียนศีรษะน้อยลง แต่การได้ยินของผู้ป่วยอาจสูญเสียไปด้วย มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้และยังเวียนศีรษะอยู่
แม้โรคเมเนียส์จะยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาดได้ แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็สามารถควบคุมได้ด้วยยาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ดังนั้น หากคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ก็ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคเมเนียส์ (Ménière’s disease/Endolymphatic hydrops)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 923-924.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “น้ำในหูไม่เท่ากัน…จริงหรือ”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [26 ส.ค. 2016].
  3. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เวียนศีรษะ บ้านหมุน….ช่วยด้วย”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [26 ส.ค. 2016].
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์.  “โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ”.  (นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com.  [26 ส.ค. 2016].
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  “เรื่องในหู ทำให้เวียนหัวและบ้านหมุน”.  (พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaihealth.or.th.  [26 ส.ค. 2016].
  6. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “โรคน้ำในหู”.  (นพ.สาฑิตย์ ชัยประสิทธิกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [26 ส.ค. 2016].
  7. โรงพยาบาลพญาไท.  “เวียนหัวจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน”.  (นพ.ทวีชัย พิตรปรีชา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phyathai.com.  [26 ส.ค. 2016].
  8. Siamhealth.  “โรคเวียนศีรษะ Meniere’s Disease”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [27 ส.ค. 2016].
9. เว็บไซต์เมดไทย 

หูอื้อ มีเสียงในหู (Tinnitus) อาการ สาเหตุ และการรักษาหูอื้อ 11 วิธี !!

หูอื้อ

หูอื้อมีเสียงในหูเสียงดังในหู หรือ เสียงรบกวนในหู (Tinnitus) เป็นอาการหรือภาวะที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกามีคนป่วยเป็นโรคนี้ถึง 40 คน แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รู้สึกว่าหูอื้อนี้เป็นปัญหาสำคัญในด้านของความหมาย “อาการหูอื้อ” หมายถึง การได้ยินลดลง ความคมชัดของเสียงลดลง หรือบางรายอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหูหรือรู้สึกมีเสียงรบกวนในหู ซึ่งอาจเป็นเสียงแหลมวี้ด ๆ คล้ายมีแมลงวันบินอยู่ในหู หรือเป็นเสียงหึ่ง ๆ หรือเสียงตุบ ๆ ที่ดังตามจังหวะการเต้นของชีพจร เป็นต้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ได้ยินเสียงเหล่านี้จะรู้สึกรำคาญจนทนไม่ได้ เพราะบางคนอาจไม่มีปัญหากับอาการหูอื้อที่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ทั้งนี้หูอื้อบางชนิดก็มีอันตราย บางชนิดก็ไม่มีอันตราย ดังจะกล่าวถึงต่อไป
เสียงในหู คือ เสียงที่เกิดจากความผิดปกติของหูหรืออวัยวะข้างเคียง ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
  1. เสียงในหูที่ผู้ป่วยได้ยินคนเดียว (Subjective Tinnitus) เช่น เสียงแหลมวี้ดหรือเสียงจิ้งหรีดร้อง, เสียงหึ่ง ๆ อื้อ ๆ, เสียงลม, เสียงพรึบพรับ เป็นต้น
  2. เสียงที่แพทย์ได้ยินด้วย (Objective Tinnitus) มักเป็นเสียงที่เกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (Carotid artery) หลอดเลือดดำใหญ่ (Jugular vein) ที่ผ่านจากคอไปสมอง ซึ่งมักเป็นเสียงตุบ ๆ หรือเสียงฟู่ ๆ ตามชีพจร

ลักษณะเสียงรบกวนในหู

การสังเกตลักษณะเสียงรบกวนในหูของผู้ป่วยต่อไปนี้จะช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้ เช่น
  • เสียงแหลมวี้ด ๆ คล้ายมีแมลงในหู หรือเสียงจิ้งหรีดร้อง หรือเสียงรบกวนที่มีความถี่สูง เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน ทั้งมาจากอายุที่มากขึ้นและจากการได้ยินเสียงเป็นเวลานาน ๆ หรือจากการได้ยินเสียงดังมาก ๆ ในทันที (เช่น เสียงระเบิด เสียงพลุ เสียงปืน เสียงประทัด), การติดเชื้อบางชนิด (เช่น เชื้อซิฟิลิสหรือเชื้อไวรัสที่ทำให้หูชั้นในอักเสบ), การผ่าตัดรักษาโรคทางสมองหรือทางหูบางโรคที่อาจกระทบกระเทือนประสาทหู, การใช้ยาบางอย่าง (เช่น ยาปฏิชีวนะที่มีผลข้างเคียงต่อประสาทหู ยาขับปัสสาวะบางชนิด ยาลดการอักเสบกลุ่มแอสไพริน ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีบริเวณศีรษะเพื่อรักษาโรคมะเร็ง) เป็นต้น
  • เสียงหึ่ง ๆ อื้อ ๆ หรือเป็นเสียงรบกวนที่มีความถี่ต่ำ มักเกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ร่วมกับอาการเวียนหัวบ้านหมุนและการได้ยินลดลง
  • เสียงลม เกิดจากการทำงานของท่อปรับความดันหูผิดปกติ
  • เสียงรบกวนจากโรคหินปูนเกาะฐานกระดูกโกลนในหูชั้นกลาง
  • เสียงพรึบพรับ เกิดจากขี้หูที่อยู่ใกล้กับแก้วหูขยับไปมาตามการสั่นของแก้วหูเมื่อมีการรับเสียงจากภายนอก
  • เสียงก้องในหู เกิดจากการมีน้ำขังในหูชั้นกลาง
  • เสียงตุบ ๆ หรือเสียงฟู่ ๆ ที่ดังตามจังหวะการเต้นของชีพจร กลุ่มนี้อาจเกิดจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด ซึ่งเป็นภาวะบางอย่างที่ทำให้เลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นและหัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นจนส่งผลให้เกิดเสียงดังในหู เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง, ภาวะตั้งครรภ์, ภาวะซีด, ไทรอยด์เป็นพิษ, หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (Carotid artery) ตีบจากภาวะที่มีคราบไขมันเกาะผนังหลอดเลือด, หลอดเลือดดำใหญ่ (Jugular vein) วางตัวสูงใกล้กับกระดูกกกหู (เมื่อแพทย์กดบริเวณนั้นเสียงมักจะหายไป,) ภาวะหลอดเลือดผิดรูป ลิ้นหัวใจรั่ว, ภาวะความดันในกะโหลกสูงโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น
  • เสียงคลิกในหู เกิดจากการหดเกร็งของเอ็นยึดกระดูกโกลนของหูชั้นกลาง
นอกจากเสียงรบกวนในหูดังกล่าวจะช่วยในการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุได้แล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะมีวินิจฉัยโดยการตรวจการได้ยิน (Audiogram) ร่วมด้วยเสมอ เพื่อความแม่นยำและความถูกต้องในการวินิจฉัยโรค

สาเหตุที่ทำให้หูอื้อ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อมีหลายสาเหตุ เช่น
  • อาการหูอื้ออาจเกิดร่วมกับอาการปวดหู, หูตึง/หูหนวก, ปวดศีรษะ, ภาวะซีด, มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู
  • อาการหูอื้อที่เกิดขึ้นทันทีหลังการว่ายน้ำหรือดำน้ำ (หรือใช้เครื่องส่องหูดูพบว่ามีขี้หูอุดตัน) มักเกิดจากขี้หูอุดตัน
  • อาการหูอื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต หรือสูบบุหรี่
  • อาการหูอื้ออาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่คุณกำลังใช้อยู่ก็ได้ เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยาแก้แพ้ (Antihistamine), แอสไพริน (Aspirin), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), คลอโรควิน (Chloroquine), ควินิน (Quinine), เตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), โคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), ยาเคมีบำบัดกลุ่มซิสพลาติน (Cisplatin) เป็นต้น
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับมีก้อนค้างที่คอ อาจเกิดจากคางบวม/คอบวม
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับเป็นไข้หวัดหรือเจ็บคอ อาจมีสาเหตุมาจากท่อยูสเตเชียนบวมจากโรคติดเชื้อ และถ้ามีเยื่อแก้วหูบวมแดงร่วมด้วยอาจเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับมีอาการบ้านหมุนนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ อาจเกิดจากโรคเมเนียส์ (โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน), หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน, เนื้องอกประสาทหู
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับการได้ยินเสียงดังตามจังหวะการเต้นของชีพจร อาจเกิดจากเนื้องอกหรือความผิดปกติของหลอดเลือดของหูชั้นใน แต่หากไม่ได้มาจากเส้นเลือดและไม่สัมพันธ์กับชีพจร สาเหตุอาจมาจากกล้ามเนื้อที่กระตุกผิดปกติ (Myoclonus) เช่น บริเวณเพดานอ่อน หรือในบริเวณหูชั้นกลางซึ่งมีกล้ามเนื้ออยู่อีก 2 มัดไว้ดึงกระดูกฆ้อน (Tensor tympani) และกระดูกโกรน (Stapedius muscle)
  • ถ้ามีอาการหูอื้อเป็น ๆ หาย ๆ เป็นครั้งคราว และมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ อาจเกิดจากท่อยูสเตเชียนบวมจากการแพ้
  • ถ้ามีอาการหูอื้อร่วมกับมีอาการนอนไม่หลับ ชอบคิดมาก หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า อาจเกิดจากโรควิตกกังวลทั่วไป โรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคซึมเศร้า
  • ถ้าไม่มีอาการร่วมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา (มีหูอื้อเกิดขึ้นโดยหาสาเหตุไม่ได้หรือไม่รู้สาเหตุ) อาจเกิดจากมะเร็งโพรงหลังจมูกหรือเนื้องอกสมอง
สาเหตุหูอื้อIMAGE SOURCE : www.wikihow.com

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดหูอื้อ

  • ผู้ที่มีโรคหรือภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาในหัวข้อสาเหตุ
  • ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังโดยไม่มีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่หูได้ยินลดลงเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น
  • เป็นผู้ที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจจากการถูกทำร้ายร่างกาย (Post traumatic stress disorder) ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อมีคนพูดเสียงดัง
  • ผู้ที่เป็นชาวตะวันตก

อาการหูอื้อ

ผู้ป่วยจะมีอาการได้ยินเสียงลดลง ความคมชัดของเสียงลดลง หรือบางรายอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหูหรือรู้สึกมีเสียงรบกวนในหู ซึ่งลักษณะของเสียงที่ได้ยินจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
อาการหูอื้อหรือมีเสียงในหูส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญได้ เพราะบางรายอาจเป็นถึงขั้นนอนไม่หลับจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วยว่าเกิดจากอะไร เพราะถ้าอาการหูอื้อเกิดจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) หรือโรคมะเร็ง ก็จะเป็นโรคที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม สาเหตุนี้ก็พบได้น้อยกว่าสาเหตุอื่น ๆ มาก

จะทราบได้อย่างไรว่าหูอื้อ ?

ส่วนใหญ่อาการหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนั้นตัวผู้ป่วยเองมักจะรู้สึกถึงความผิดปกติได้ แต่ในกลุ่มที่มีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักไม่ทราบด้วยตัวเองและต้องอาศัยคนใกล้ชิดปกติ เช่น เรียกแล้วไม่ค่อยได้ยินหรือต้องเปิดโทรศัพท์เสียงดัง ๆ
ทั้งนี้ สำหรับวิธีการทดสอบการได้ยินด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ สามารถทำได้โดยการใช้นิ้วมือถูกันเบา ๆ ที่บริเวณหน้าหูทีละข้าง แล้วสังเกตความแตกต่างของระดับเสียงที่ได้ยิน (การทดสอบนี้จะใช้ได้เมื่อหูทั้งสองข้างมีการได้ยินไม่เท่ากัน)
อาการหูอื้อIMAGE SOURCE : hearinggroup.com

การวินิจฉัยอาการหูอื้อ

แพทย์จะทำการซักประวัติอาการและตรวจหูของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อดูว่าเสียงนั้นน่าจะมาจากในหูหรือนอกหู เกี่ยวกับเส้นประสาทหรือไม่ เป็นหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน แล้วผู้ป่วยได้ยินคนเดียวหรือแพทย์ได้ยินเสียงนั้นด้วย เมื่อตรวจเจอสาเหตุก็จะรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ
แต่ในกรณีที่ตรวจไม่เจอความผิดปกติใด ๆ คราวนี้จะยากขึ้นมาหน่อย เพราะแพทย์อาจจะต้องทำการตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อดูว่าหูของผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ความถี่ต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง หูข้างซ้ายและข้างขวาได้ยินเท่ากันหรือไม่ เพราะมีผู้ป่วยหลายรายที่พบว่าหูทั้งสองข้างปกติ แต่มีข้างหนึ่งที่ดีกว่าอีกข้างอย่างชัดเจน (ประมาณว่า “ดีเกินไป”) จึงอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงอื้อ ๆ กับหูข้างที่ด้อยกว่าแต่ยังปกติได้ครับ นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่อาจซุกซ่อนอยู่ด้วย เช่น การตรวจหาเชื้อซิฟิลิส, การวิเคราะห์การทำงานของเส้นประสาทหูส่วนก้านสมองเพื่อหาหลักฐานว่ามีเนื้องอกหรือไม่ (Audiotory brain stem response – ABR), การสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อจะทำให้เห็นเนื้องอกได้

วิธีรักษาอาการหูอื้อ

  • ถ้าทราบสาเหตุของอาการหูอื้อ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ (ขอกล่าวถึงเฉพาะสาเหตุที่พบได้บ่อย)
    1. หูอื้อที่เกิดจากขี้หูอุดตัน ถ้าขี้หูไม่แน่นมาก อาจใช้วิธีแคะหรือเขี่ยออกด้วยความระมัดระวังอย่างเบามือหรือใช้น้ำฉีดล้างออก แต่ถ้าขี้หูแน่นมากไม่แนะนำให้ใช้วิธีแคะหรือเขี่ยออก เพราะมักจะเอาไม่ออกและทำให้ขี้หูถูกดันลึกเข้าไปมากขึ้น นอกจากนั้นยังอาจทำให้ช่องหูชั้นนอกเกิดแผล มีเลือดออกและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ (หูชั้นนอกอักเสบ) ส่วนวิธีที่แนะนำคือ ให้หยอดยาละลายขี้หูให้ท่วมรูหูทิ้งไว้สักครู่แล้วเทออก ถ้ายังรู้สึกอื้ออยู่ให้ทำซ้ำอีก 2-3 ครั้ง แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดหูร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์
    2. หูอื้อที่เกิดจากการได้ยินเสียงดังมาก ๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงประทัด หรือเกิดอาการหูอื้อขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีเสียงในหู ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางทันที
    3. หูอื้อที่เกิดจากหวัด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติในหูชั้นกลางและตรวจภายในโพรงจมูกร่วมด้วย เนื่องจากมักพบจมูกอักเสบเรื้อรังหรือไซนัสอักเสบได้บ่อยจากภาวะดังกล่าว
    4. หูอื้อที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ให้เอียงหูข้างนั้นลงต่ำและเคาะที่ศีรษะเบา ๆ หรือถ้าแมลงเข้าหู ให้หยอดหูด้วยน้ำมันพืชหรือกลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine borax)
    5. หูอื้อที่เกิดขึ้นหลังจากกินยาหรือฉีดยา หรือหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ โคล่า ช็อกโกแลต หรือสูบบุหรี่ ให้หยุดยาหรือสารเหล่านี้เสีย
    6. หูตึงในผู้สูงอายุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกที่ทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ และรับการประเมินระดับการได้ยินว่าสมควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ เพื่อเลือกชนิดของเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละรายต่อไป

  • การรักษาอาการหูอื้อที่สำคัญที่สุด คือ การรักษาที่ต้นเหตุ (ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อหรือมีเสียงในหู) หากแพทย์ตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน การรักษาจะมุ่งเน้นไปตรงนั้น ซึ่งจะช่วยทำให้อาการหูอื้อที่เป็นอยู่นั้นหายขาดได้ เช่น ถ้าเกิดจากขี้หูอุดตัน (Cerumen impaction) แพทย์จะช่วยเอาขี้หูออกให้ ซึ่งจะช่วยทำให้อาการหูอื้อที่เป็นอยู่หายไปทันที, ถ้าเกิดจากเนื้องอกในช่องหู (Glomus tumor) ต้องรักษาโดยการผ่าตัด, ถ้าเกิดจากกล้ามเนื้อที่กระตุกผิดปกติ (Myoclonus) ต้องรักษาด้วยการฉีดโบทอกซ์ ฯลฯ
    • หากใช้ยาอยู่หลายตัว ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาต่าง ๆ เหล่านั้นที่ใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการหูอื้อได้ แล้วปรับเปลี่ยนไปใช้ยาแบบใหม่แทน
    • สาเหตุบางอย่างอาจต้องอาศัยการผ่าตัด เช่น การใส่ท่อระบายน้ำที่ขังอยู่ในหูชั้นกลาง, การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกโกลนเพื่อรักษาภาวะหินปูนเกาะที่ฐานกระดูกโกลนในหูชั้นกลาง
    • การรักษาเสียงตุบ ๆ หรือเสียงฟู่ ๆ ที่ดังตามชีพจร ต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการรักษาต่อตามสาเหตุที่ตรวจพบ
    • เสียงคลิกในหูซึ่งเกิดจากการหดเกร็งของเอ็นยึดกระดูกโกลนของหูชั้นกลาง สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยา แต่ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องอาศัยการผ่าตัดรักษาต่อไป
    • เสียงในหูบางชนิดจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รบกวนผู้ป่วยมากนัก แต่จะทำให้การได้ยินลดลงเรื่อย ๆ พร้อมกับมีอาการเดินเซ ซึ่งมักเกิดมาจากเนื้องอกของเส้นประสาทคู่ที่ 8 เนื้องอกในสมอง หรือก้านสมองขาดเลือดไปเลี้ยง การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยในการวินิจฉัยได้ ส่วนการรักษาจะต้องทำการผ่าตัดหรือแกมมาไนฟ์ (Gamma Knife) ต่อไป
  • การรักษาอาการหูอื้อชั่วคราว
    1. ลองใช้เทคนิคการเคาะกะโหลก หากรู้สึกว่าอาการหูอื้อยังไม่หายหลังจากเพิ่งได้รับเสียงดังเป็นเวลานาน เช่น หลังจากดูคอนเสิร์ตหรือเที่ยวผับ (สาเหตุอาจเกิดจนเซลล์ขนเล็ก ๆ ภายในคลอเคลียถูกกระทบกระเทือนจนทำให้เกิดการอักเสบและเส้นประสาทถูกกระตุ้น แล้วสมองแปลงอาการอักเสบนี้ออกมาเป็นเสียงอื้อหรือเสียงดังในหูอย่างต่อเนื่อง) คุณอาจใช้เทคนิคนี้เพื่อช่วยทำให้เสียงน่ารำคาญเหล่านั้นหายไปได้ด้วยการใช้ฝ่ามือปิดหู (ให้นิ้วหันกลับและวางอยู่ทางด้านหลังของกะโหลกศีรษะ)โดยให้นิ้วกลางทั้งสองข้างชี้เข้าหากันตรงด้านหลังสุดของกะโหลก และให้วางนิ้วชี้ไว้ด้านบนนิ้วกลาง จากนั้นให้เคลื่อนนิ้วในจังหวะเคาะ โดยกระดกนิ้วชี้ลงจากนิ้วกลางไปที่ด้านหลังกะโหลก (การเคลื่อนไหวลักษณะนี้จะทำให้เกิดเสียงเหมือนการตีกลอง และเพราะนิ้วกระแทกกับกะโหลกด้วยในขณะเดียวกัน เสียงที่เกิดขึ้นจึงอาจดังพอสมควร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ) แล้วให้เคาะนิ้วลงบนด้านหลังของกะโหลกอย่างต่อเนื่องประมาณ 40-50 ครั้ง แล้วลองสังเกตอาการหูอื้อดูว่าทุเลาลงแล้วหรือยัง
    2. ลองรอสักพัก เพราะอาการหูอื้อที่เกิดจากการได้ยินเสียงดัง ๆ มักหายไปเองได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง และคุณอาจเบี่ยงเบนความสนใจออกจากเสียงในหูด้วยการพักผ่อนและอยู่ให้ห่างจากสิ่งที่อาจทำให้อาการหูอื้อแย่ลง แต่ถ้ายังหูอื้อไม่หายหลังจากผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์
  • การรักษาอาการหูอื้อเรื้อรัง หากตรวจไม่พบสาเหตุหรือความผิดปกติ (ซึ่งส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบ) การรักษาจะไม่ค่อยมีแล้วครับ แต่การใช้วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดเสียงรบกวนในหูให้ลดน้อยลงได้ เช่น
    1. การใช้กลยุทธ์กลบเสียง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น
      • การเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อช่วยกลบเสียงในหู
      • การเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่มีเสียงเบา ๆ อาจช่วยกลบเสียงในหูลงได้
      • การฟังวิทยุไม่ตรงช่องเพื่อให้มีเสียงซ่า ๆ มากลบเสียงในหู
      • การทำให้บ้านมีเสียงพื้นไว้ (Ambient sound) กล่าวคือ อย่าให้บ้านเงียบเกินไป
      • ในปัจจุบันมีผู้คิดเครื่องสร้างเสียงดนตรีที่ไม่เป็นเพลงเพื่อช่วยดึงความสนใจของผู้ป่วยออกจากภาวะหูอื้อได้
    2. การใช้อุปกรณ์ที่ช่วยกลบเสียง นอกจากวิธีข้างต้นแล้วยังมีวิธีกลบเสียงอื้อในหูอีกหลากหลายรูปแบบที่แพทย์นำมาใช้เพื่อกลบเสียงอื้อในหู เช่น
      • การใช้เครื่องสร้างสัญญาณรบกวนสีขาว (White noise) ซึ่งเครื่องสัญญาณรบกวนนี้จะสร้างเสียงเบื้องหลังในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสียงฝนตก เสียงลมพัดแรง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยกลบเสียงอื้อในหูอย่างได้ผล
      • การใช้อุปกรณ์กลบเสียง ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่จะติดไว้ที่หูเพื่อสร้างคลื่นสัญญาณรบกวนสีขาวอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยกลบเสียงอื้อเรื้อรังในหู
      • การสวมเครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์นี้จะได้ผลอย่างมากถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน (หูตึง) ร่วมกับอาการหูอื้อ
    3. การเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการหันไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ปล่อยตัวให้ว่างนัก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่พอช่วยได้ครับ
    4. การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการหูอื้อ ด้วยการให้ยาเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน, ยารักษาอาการบวมของท่อปรับความดันหู หรือการให้ยาเพื่อรักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน, ยาสเตียรอยด์, ยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหูชั้นในอื่น ๆ เช่น เบตาฮีสทีน (Betahistine) ซึ่งจะช่วยลดเสียงในหูได้ประมาณ 60%, ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic antidepressants – TCA), ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า “ซาแนกซ์” (Xanax) เพราะมีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยาอัลปราโซแลมสามารถช่วยลดอาการเสียงดังในหูอย่างได้ผล ฯลฯ (แม้ยาอาจไม่สามารถทำให้อาการหูอื้อหายขาดได้ แต่ถ้าการรักษาด้วยยามันจะทำให้อาการหูอื้อทุเลาลงได้)
    5. การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยพร้อมอาหารวันละ 3 ครั้ง อาจช่วยทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ศีรษะและชะลอน้อยลง จึงช่วยลดอาการหูอื้อจากความดันโลหิตได้ (คุณอาจต้องลองรับประทานสัก 2 เดือน จากนั้นจึงค่อยตรวจเช็กประสิทธิภาพในการรักษา แต่ในระหว่างนี้ถ้ามีอาการเลวลงหรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที)
    6. การทำใจยอมรับ บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยสามารถปรับตัวให้อยู่กับอาการหูอื้อหรือเสียงในหูจนเกิดความคุ้นเคยและไม่รำคาญต่อไปได้ พูดง่าย ๆ คือ พยายามอยู่กับมันให้ได้ครับวิธีแก้หูอื้อIMAGE SOURCE : www.actiononhearingloss.org.uk
  • การดูแลตนเองเมื่อมีอาการหูอื้อ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
    1. ก่อนอื่นต้องสังเกตตัวเองก่อนว่าเป็นหูอื้อแบบไหน เช่น มีอาการหูอื้อเวลาเป็นหวัดหรือเปล่า เป็นต้น แล้วให้การดูแลรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุนั้นให้ดี
    2. หลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น งานคอนเสิร์ต บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เครื่องบิน เสียงปืน และเสียงดังอื่น ๆ หรือใส่เครื่องป้องกันเสียงเสมอ
    3. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ เพราะน้ำและสารคลอรีนอาจติดค้างอยู่ในหูชั้นในในขณะว่ายน้ำจนเป็นสาเหตุหรือทำให้อาการเสียงดังในหูแย่ลงได้ (แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใส่ที่อุดหูในขณะว่ายน้ำ)
    4. เมื่อเกิดความรู้สึกรำคาญจากเสียงในหู อาจเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อช่วยกลบเสียงในหูได้
    5. หาวิธีระบายความเครียด เช่น การออกกำลังกาย นั่งสมาธิ การนวดบำบัด ฯลฯ เพราะความเครียดอาจทำให้อาการแย่ลงได้
    6. ยอมรับและปรับตัวเพื่อลดความกังวลและความเครียด รักษาสุขภาพจิตให้ดี เพราะความเครียดจะทำให้รู้สึกว่ามีเสียงในหูดังขึ้น
    7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาเฟอีน เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและส่งผลทำให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้นหรือหูอื้อมากขึ้นได้
    8. งดการสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้อาการหูอื้อที่เป็นอยู่เลวลงได้
    9. ถ้ามีอาการได้ยินลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ด้านหูคอจมูก เพราะอาจเป็นอาการของประสาทหูเสื่อมได้

วิธีป้องกันอาการหูอื้อ

การป้องกันการเกิดอาการหูอื้อสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
  1. หลีกเลี่ยงการฟังเสียงดัง ๆ หรือถ้าต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังก็ต้องมีเครื่องป้องกันหูที่ถูกต้อง เช่น ที่อุดหู
  2. ควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การตากฝน, การดื่มหรืออาบน้ำเย็น, การสัมผัสอากาศที่เย็นเกินไป, การสัมผัสอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (เช่น จากร้อนไปเย็น จากเย็นไปร้อน), การมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้ เป็นต้น (แต่ในกรณีที่เป็นหวัดแล้ว ต้องรีบรักษาตัวเองให้หายและงดการดำน้ำในช่วงนั้น)
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรป้องกันไม่ให้อาการทางจมูกหรือไซนัสกำเริบ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความเครียด, อารมณ์เศร้า เสียใจ, ความวิตกกังวล, ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลง, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือวัด เป็นต้น เนื่องจากถ้ามีการอักเสบในโพรงจมูกเกิดขึ้นจะส่งผลทำให้ท่อยูสเตเชียน* ทำงานผิดปกติ
  4. ถ้ามีอาการทางจมูกเกิดขึ้น เช่น คันจมูก คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล และจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบิน ควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการทางจมูกก่อนขึ้นเครื่องเป็นเวลาตามที่แพทย์แนะนำ เช่น การรับประทานยาแก้แพ้ ยาหดหลอดเลือด หรือยาพ่นจมูก และอาจร่วมกับการล้างจมูกหรือการสูดไอน้ำร้อน เพื่อทำให้การอักเสบภายในจมูกลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยทำให้ยูสเตเชียนกลับมาทำงานปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น ควรทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลาในระหว่างเครื่องบินขึ้นและลงด้วย เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง (เพื่อทำให้มีการกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ซึ่งในขณะที่กลืนน้ำลายจะมีการเปิดและปิดท่อยูสเตเชียน) หรือบีบจมูก 2 ข้างและกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (จะทำให้ท่อยูสเตเชียนปิด) และเอามือที่บีบจมูกออกและกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง (จะทำให้ท่อยูสเตเชียนเปิด) เป็นต้น ทั้งนี้ในขณะที่เป็นหวัดหรือไซนัสอักเสบซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรบีบจมูกและเป่าลมให้เข้ารูเปิดของท่อยูสเตเชียน เพราะอาจจะทำให้เชื้อโรคในจมูกเข้าไปสู่หูชั้นกลางได้ (ถ้าลองใช้ยาตามวิธีข้างต้นแล้วยังมีอาการทางหูอยู่ ให้พ่นยาหดหลอดเลือดเข้าไปในจมูกอีกทุก ๆ 10-15 นาที ร่วมกับทำตามวิธีที่ให้ท่อยูสเตเชียนทำงานเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลาดังกล่าว ดังนั้น จึงควรพกยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นและชนิดรับประทานติดตัวไว้ด้วยเสมอ)
  5. ดูแลรักษาหรือควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหูอื้อดังที่กล่าวมา
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันการทำลายเซลล์ประสาทรับเสียงในหูชั้นใน
  7. ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ กาเฟอีน และนิโคติน เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้หลอดเลือดขยายตัวและส่งผลทำให้ได้ยินการไหลเวียนของเลือดในหูดังขึ้นหรือหูอื้อมากขึ้นได้
  8. หลีกเลี่ยงเกลือ เพราะเกลือจะทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายอ่อนแรง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้อาการเสียงดังในหูแย่ลงอีกด้วย
  9. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดการติดเชื้อและลดการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหูอื้อได้
  10. ไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหูเกิดขึ้น
วิธีป้องกันหูอื้อIMAGE SOURCE : www.wikihow.com
หมายเหตุ : ท่อยูสเตเชียน (Eustachain tube) เป็นท่อที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก เพราะเมื่อใดก็ตามที่ท่อนี้ทำงานผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการหูอื้อ ปวดหู มีเสียงในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ ตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่เราพบได้บ่อย ๆ คือ การขึ้นหรือลงลิฟต์เร็ว ๆ หรือในขณะที่เครื่องบินขึ้นหรือลงเร็ว ๆ ก็จะทำให้มีอาการหูอื้อได้

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “หูอื้อ (Decreased hearing)/มีเสียงในหู (Tinnitus)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 100-102.
  2. หาหมอดอทคอม.  “หูอื้อ เสียงในหู (Tinnitus)”.  (นพ.วิรัช ทุ่งวชิรกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [31 ธ.ค. 2016].
  3. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูอื้อ”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [31 ธ.ค. 2016].
  4. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ขึ้น… ลงเครื่องบิน มีปัญหาปวดหู หูอื้อ…ทำอย่างไรดี”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [31 ธ.ค. 2016].
  5. โรงพยาบาลบางปะกอก 9.  “โรคเสียงอื้อในหู ความผิดปกติของหู”.  (พญ.พัตราภรณ์ ตันไพจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangpakokhospital.com.  [01 ม.ค. 2017].
  6. wikiHow.  “วิธีการแก้อาการหูอื้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [01 ม.ค. 2017].
7. เว็บไซต์เมดไทย 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น