เกษียณสุขใจด้วยวัย 45
สู่วัยชราอย่างสุขใจ-สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 45
กรมอนามัยเผย ในจำนวนผู้สูงอายุที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย มีเพียง 6 ล้านคนที่เตรียมความพร้อมสำหรับการเป็น "ผู้สูงวัยคุณภาพ" ส่วนอีก 4 ล้านคนยังน่าห่วง มีปัญหาทั้งด้านสุขภาพและการเงิน แนะการเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยคุณภาพต้องเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี
"พึ่งตนเองให้นานที่สุด อยู่กับครอบครัวและชุมชนจนบั้นปลายของชีวิต" คือแนวคิดหลักของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นแผนระยะ 20 ปีที่จะสิ้นสุดในปี 2564 หรืออีกไม่ถึง 5 ปี
แต่จากการสำรวจของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่ามีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมสู่การเป็น "ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ" ครบทั้ง 3 ด้าน คือ สุขภาพ เงิน และที่อยู่อาศัย เพื่อดำเนินชีวิตในบั้นปลายโดยพึ่งพาตนเองได้
ส่วนอีกร้อยละ 40 หรือราว 4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวหรืออยู่เพียง 2 คน สามี-ภรรยา รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยติดบ้าน เป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 2,400 บาท ฯลฯ แทบไม่มีการวางแผนในเรื่องนี้
กรมอนามัยระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศประมาณ 67.9 ล้านคน
นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ว่า แม้มีความพยายามกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทว่า กลไกของรัฐที่มีอยู่ขณะนี้ก็ไม่สามารถดูแลผู้สูงที่มีอยู่ 10 ล้านคน ในประเทศได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้เตรียมตัวสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาทางการเงิน และมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
"การเตรียมตัวให้ทันต่อการเป็นผู้สูงวัยคุณภาพในช่วงบั้นปลายชีวิตต้องเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป โดยเริ่มจากตัวเองจะเห็นผลดีที่สุด แต่ที่ผ่านมาผู้สูงวัยมักเตรียมตัวช้าและไม่มีความรู้สู่การเป็นผู้สูงวัยคุณภาพอย่างถูกต้อง เช่น เตรียมตัวเพียง 1-2 ปี ก่อนเกษียณอายุ ซึ่งอย่างนี้ไม่ทันแน่นอน"
|